ประธานชมรม รพศ./รพท.ขอบคุณ “สมศักดิ์” ของบกลางรัฐบาลบรรเทาปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง ให้ได้รับค่ารักษาผู้ป่วยในอัตราสูงขึ้นใกล้ 8,350 บาทต่อหน่วย แต่น่าห่วง!   วิธีคิดของกรรมการบอร์ดบางคนยืนยันให้งบผู้ป่วยในที่จำเป็นยังคงเป็น "งบปลายปิด" สวนทางงบบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยกลับเป็น “งบปลายเปิด” 

 

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานประชุมบอร์ดสปสช.วาระพิเศษ ถกงบกลาง 5,924 ล้านบาท พร้อมออกประกาศใหม่จัดสรรงบ โดยเฉพาะผู้ป่วยในจ่ายให้ รพ. ขั้นต่ำ  8,154 บาท สูงสุดไม่เกินเท่าเดิม  8,350 บาทต่อหน่วยนั้น

(ข่าว: “สมศักดิ์” ถกบอร์ดสปสช. งบผู้ป่วยในจ่ายรพ.ไม่ต่ำกว่า 8,154 บาท พร้อมปรับประกาศใหม่ทันที)

ล่าสุเเมื่อวันที่ 24 กันยายน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เปิดเผยว่า ทางชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปขอขอบคุณนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  ที่เข้าใจปัญหางบผู้ป่วยใน ที่กระทบโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข และรมว.สธ.ได้ของบกลางจากรัฐบาลมาเสริม  อีกทั้ง ยังพยายามให้โรงพยาบาลได้รับค่ารักษาผู้ป่วยในในอัตราสูงขึ้นใกล้ 8,350 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม ทุกโรงพยาบาลต้องติดตามดูว่า สุดท้ายแล้วสปสช.จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง 15 กันยายน 2567 ในอัตราเท่าไหร่แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ วิธีคิดของกรรมการบอร์ดบางคนที่ยังคงยืนยันให้งบบริการผู้ป่วยในที่จำเป็นต้องรักษา ไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ไม่ให้พิการ เป็น "งบปลายปิด" ในขณะที่งบบริการอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ไปรับยาร้านยา คลินิกปฐมภูมิ เพื่ออำนวยความสะดวกกลับเป็น "งบปลายเปิด" อยากให้ทุกภาคส่วนในสังคมช่วยวิจารณ์การใช้งบประมาณด้วยวิธีคิดแบบนี้ ถูกต้องหรือไม่ ในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในตอนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นงบผู้ป่วยใน เกิดขึ้นสืบเนื่องจากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือยูฮอสเน็ต (UHosNet) ออกมาเรียกร้องงบผู้ป่วยใน ที่ถูกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ปรับลดจากเดิมจ่าย 8,350 บาทต่อหน่วย หรือต่อค่าAdjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) แต่เดือนมิถุนายน2567 ที่ผ่านมาจ่ายเหลือ 7 พันบาทต่อหน่วย กระทบสภาพคล่องรพ. ทำให้หลายแห่งเกิดปัญหาขาดทุน จนรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข บางส่วน ออกมาเปิดเผยข้อมูล

กระทั่งรมว.สาธารณสุข รับทราบปัญหา และของบกลางจน ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 5,924 ล้านบาท เพื่อนำส่วนหนึ่งมาจ่ายงบผู้ป่วยในให้รพ.เพื่อบรรเทาปัญหาตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้