ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT เร่งฟื้นฟูสุขภาพใจ-กาย ผู้ประสบอุทกภัย ด้านกรมอนามัย จัดทีม SEhRT เข้าดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม "เชียงราย" หลังน้ำลด ห่วงโคลนแห้งทำฝุ่น PM10 เพิ่มขึ้น เผย "น้ำท่วม" กระทบสถานพยาบาลเพิ่ม 3 แห่ง รวมเป็น 70 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง สถานการณ์ลดลงเหลือ 8 จังหวัด 

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถาณการณ์อุทกภัยใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าน้ำจะลดลงแล้วแต่ยังคงความเสียหายให้กับประชาชน โดยเฉพาะดินโคลนและขยะในบริเวณบ้าน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชนตามมา ทำให้เกิดความอ่อนล้า หงุดหงิด ความเครียด จึงได้ให้ทีมดูแลเยียวยาจิตใจ MCATT เข้าพื้นที่ลงปฏิบัติการฟื้นฟูด้านสุขภาพทั้งกายใจ โดยบูรณาการกับทีมสาธารณสุขทุกฝ่าย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเข้าช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเดิม ต้องได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดยา ป้องกันอาการทางจิตที่จะกำเริบได้ 

นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า ระยะหลังได้รับผลกระทบ (2 สัปดาห์-3 เดือน) เป็นระยะที่ผู้ประสบภัยเริ่มเผชิญกับความเป็นจริงมากขึ้น มีความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยจะมีความเครียด วิตกกังวล ท้อแท้ ซึมเศร้า ไม่แน่ใจในอนาคตของตนเองว่าจะเป็นอย่างไร 

ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือในมิติสุขภาพจิตระยะนี้ต้องได้รับการประคับประคองอย่างใกล้ชิด จึงต้องมีการประเมินสภาพจิตใจควบคู่กับการช่วยเหลือตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน หากไม่มีปัญหาสุขภาพจิต ให้การช่วยเหลือตามสภาพปัญหาและเฝ้าระวัง แต่หากพบมีปัญหาสุขภาพจิต ต้องเร่งให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ (Psychological First Aid: PFA) ถ้าพบมีความเสี่ยงสูงส่งต่อบุคลากรทางการแพทย์

เร่งฟื้นฟูสุขภาพใจ-กาย ผู้ประสบอุทกภัย

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมข้อมูลสะสม ณ วันที่ 22 ก.ย.67 ทีม MCATT ได้มีการประเมินสุขภาพใจ จำนวน 12,858 ราย พบมีความเครียด 715 ราย ภาวะซึมเศร้า 50 ราย และได้มีการส่งต่อพบจิตแพทย์ จำนวน 66 ราย ยังไม่มีรายงานผู้ที่เสี่ยงทำร้ายตัวเอง ในวันนี้ทีม MCATT ได้ระดมทีมจากสสจ.เชียงราย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ สสอ.เมืองเชียงราย รพช. และ สสอ. ในจังหวัด ได้แก่ อ.พาน อ.เวียงชัย และอ.แม่ลาว บูรณาการลงปฏิบัติงานร่วมกับทาง อบจ. เทศบาล และจิตอาสา เพื่อการดูแลทั้งสุขภาพกายและใจ ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการให้มากที่สุด พื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ให้ทีมลงเดินเท้าเยี่ยมบ้านชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 

ส่วนพื้นที่เข้าถึงได้ยากไม่สามารถเดินเท้าได้ จึงมีการประสานเข้าพื้นที่โดยใช้รถ Offroad ของทางเทศบาลเข้าไปในพื้นที่ผู้ประสบภัย โดยมีเป้าหมายพื้นที่สีแดง 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเกาะทอง ชุมชนบ้านไร่ ชุมชนเคหวาย ชุมชนริมน้ำกก ชุมชมมุสลิมกกโท้ง และชุมชนกกโท้ง พบมีผู้ประสบภัยรวมจำนวน 1,171 หลังคาเรือน พบว่าประชาชนยังมีความเครียดอยู่มาก จึงได้ให้การปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้นเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดภาวะเครียด 

ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนช่วยสังเกตและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตตามมา ด้วยการใช้หลัก 3 ส.ดังนี้ ส.1 สอดส่องมองหา ส.2 ใส่ใจรับฟัง ส.3 ส่งต่อเชื่อมโยง สอดส่องมองหา โดยการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เช่น เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน ใส่ใจรับฟัง ให้เขาระบายความในใจออกมา อาจสื่อสารด้วยภาษากาย การสัมผัส โอบกอบ หากยังไม่ดีขึ้นให้ส่งต่อเชื่อมโยง 

อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำสัญญาณเตือนทางด้านสุขภาพจิต ได้แก่ 

1.นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป 

2.แยกตัวหรือเก็บตัว 

3.มีอาการเจ็บป่วยทางกายที่หาสาเหตุไม่ได้ 

4.เบื่ออาหาร 

5.ไม่มีสมาธิ 

6.มีอารมณ์แปรปรวน 

7.มีอารมณ์ซึมเศร้า 

หากมีอาการ 1 ใน 7 ข้อนี้ หรือหลายข้อรวมกัน ให้ประสานหรือขอความช่วยเหลือไปยังทีม MCATT ในพื้นที่ สาธารณสุขทุกฝ่าย อบจ. อสม.เทศบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อดูแลจิตใจและรับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 7/2567 

โดยนพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ลดลงเหลือ 8 จังหวัด ได้แก่ 

  1. พิษณุโลก 
  2. พิจิตร 
  3. พระนครศรีอยุธยา 
  4. นครนายก 
  5. หนองคาย 
  6. บึงกาฬ 
  7. นครพนม 
  8. อุดรธานี 

"น้ำท่วม" กระทบสถานพยาบาลเพิ่ม 3 แห่ง รวมเป็น 70 แห่ง 

ยอดผู้เสียชีวิต 46 ราย บาดเจ็บสะสม 1,259 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 3 แห่ง รวมสะสม 70 แห่ง เปิดบริการได้ตามปกติ 69 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เขายาว จ.สตูล อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ภายในวันนี้ 

ส่วนการเฝ้าระวังได้กำชับให้จังหวัดต่าง ๆ ติดตามสถานการณ์ทั้งน้ำในลำน้ำ น้ำในเขื่อนและการระบายน้ำ รวมถึงสถานการณ์ฝน โดยคาดว่าวันที่ 23-25 กันยายน 2567 มี 4 จังหวัดที่อาจมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร คือ กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุดรธานี ได้เน้นให้เตรียมพร้อมมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับ

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ในการดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัยได้จัดทีม SEhRT เข้าดูแลตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งประเมินความเสี่ยงและจัดการการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ สื่อสารให้ความรู้ประชาชนและผู้อพยพ ส่วนพื้นที่เข้าสู่ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด เช่น จ.เชียงราย ได้ลงพื้นที่สนับสนุนการทำความสะอาด ให้ความรู้ป้องกันตนเองจากเชื้อโรค การล้างทำความสะอาดบ้าน และการดูแลสถานที่สาธารณะจากปัญหาซากปรักหักพัง ดินโคลน ฝุ่นละอองจากโคลนแห้ง ขยะที่ลอยมากับน้ำ เชื้อราในบ้าน สัตว์มีพิษ พาหะนำโรค ไฟฟ้ารั่ว ช็อต และไฟดูด 

นอกจากนี้ ยังจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพแต่ละกลุ่มวัยในศูนย์อพยพ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ จัดพื้นที่แม่ให้นมบุตร ส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, เด็ก 0-5 ปี จัดพื้นที่เปลี่ยนผ้าอ้อม จัดมุมให้ความรู้เรื่องคุณค่าและปริมาณอาหารที่เหมาะสม จัดกิจกรรมหมุนเวียน เช่น มุมหนังสือ มุมศิลปะ, เด็กอายุ 6-12 ปี เพิ่มการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และผู้สูงอายุ จัดพื้นที่เปลี่ยนผ้าอ้อม การออกกำลังกายดูแลสุขภาพ เป็นต้น พร้อมดูแลเรื่องขยะ ห้องส้วม และอาหาร ให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลด้วย

ออก 7 มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ฝุ่นละออง PM10

ใน จ.เชียงราย พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอนหรือ PM10 สูงสุดอยู่ที่ 72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งแม้จะยังไม่เกินค่ามาตรฐาน 120 มคก./ลบ.ม. แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นช่วงเวลากลางวัน จากการทำความสะอาดและการจราจรที่ทำให้ฝุ่นจากดินโคลนที่เริ่มแห้งฟุ้งกระจาย จึงได้เน้นย้ำมาตรการคือ 

1.ให้มีการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM10 ในพื้นที่ 

2.สื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองและวิธีการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง 

3.เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ใน 4 กลุ่มโรค ทั้งโรคตาโรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด 

4.สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (หน้ากากอนามัย) ให้แก่กลุ่มเสี่ยง 

5.ปรับระบบนัดและใช้ Telemedicine เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น 

6.จัดห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารรสุข โดยปิดประตู หน้าต่างเพื่อลดฝุ่นเข้าอาคาร 

7.ให้คำแนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ในการจัดบ้านให้สะอาด