บอร์ด สปสช. รับทราบ “ผลเบิกจ่ายงบกลาง” กองทุนบัตรทอง 5,924 ล้านบาท ตามที่ ครม. อนุมัติสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน-จำเป็นสิ้นปีงบประมาณ ชดเชยบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ สมทบจ่ายบริการผู้ป่วยใน ครบอัตรา 8,350 บาทต่อ AdjRW
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม ได้มีการพิจารณาและมีมติรับทราบ “รายงานผลการเบิกจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวนเงิน 5,924.31 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
งบกลางดังกล่าวมาจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ในรายการสำรองเงินจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กองทุนบัตรทอง จำนวนเงิน 5,924,314,600 บาท ให้กับ สปสช. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
ต่อมาในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ สปสช. นำงบกลางดังกล่าว และงบรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมของปีงบประมาณ 2566 รวมถึงรายรับอื่นระหว่างรอปิดบัญชีปีงบประมาณ 2567 ที่ไม่มีภาระผูกพัน นำมาจ่ายค่าชดเชยค่าบริการโดยเรียงจากความสำคัญ ได้แก่
1. ค่าบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในส่วนของหน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภท
2. กรณีบริการที่จำเป็นในการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการนอกเครือข่ายกรณีเหตุสมควร (OP Anywhere)
3. กรณีรายการค่าบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอ
4. หากมีเงินคงเหลือให้นำมาจ่ายเพิ่มเติมกับค่าบริการค่าผู้ป่วยในนำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมกับค่าบริการผู้ป่วยใน เพื่อจ่ายให้กับหน่วยบริการในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อหน่วย (AdjRW)
5. ในกรณีที่มีงบประมาณเหลือให้ยกยอดปีถัดไป ยกเว้นงบกลางให้เบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย. 2567 ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการจ่ายชดเชยเรียบร้อยแล้ว ทาง สปสช. จึงได้มีการรายงานผลต่อที่ประชุม บอร์ด สปสช. ในวันนี้
นพ.ดุสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายในส่วนของค่าบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใช้งบประมาณจากงบกลางไปจำนวน 1,705.60 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการใช้งบประมาณปกติ และงบประมาณสูง (ต่ำ) ที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว ส่วนของกรณีค่าบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอนั้น สปสช. ดำเนินการโดยใช้งบประมาณจากงบกลาง จำนวน 1,496.92 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในส่วนค่าบริการผู้ป่วยในเพื่อจ่ายให้หน่วยบริการในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ AdjRW นั้น สปสช. ใช้งบประมาณจากงบกลางดังกล่าว จำนวน 2,721.80 ล้านบาท รวมกับงบประมาณรายได้สูง (ต่ำ) และรายรับอื่นระหว่างรอปิดบัญชี จำนวน 1,158.51 ล้านบาท ทำให้ในกรณีค่าบริการของผู้ป่วยในมีงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 3,880.31 ล้านบาท ส่งผลให้ สปสช. สามารถจ่ายค่าให้หน่วยบริการได้ที่จำนวน 8,350 บาทต่อ AdjRW ได้จนปิดปีงบประมาณ 2567
- 90 views