ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่บางบาล จ.อยุธยา เยี่ยมผู้ป่วยไตวายล้างไตทางหน้าท้อง ที่ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมติดตามการดูแลภายใต้กองทุนบัตรทอง ขณะที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา มีการวางระบบดูแลผู้ป่วยที่ดี ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ พร้อมกระตุ้นท้องถิ่นใช้งบ กปท. จัดหายานพาหนะรับส่งผู้ป่วย  

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณด) เดินทางลงพื้นที่ ต.บ้านคลัง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา  เพื่อเยี่ยมชมการจัดระบบการจัดส่งน้ำยาล้างไต ยา และเวชภัณฑ์ ถึงบ้านผู้ป่วยในพื้นที่อุทกภัย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเยี่ยมชมระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่ประสบอุทกภัยว่ายังสามารถรับบริการด้านสุขภาพได้ และทีมงานของบริษัทไปรษณีย์ไทยฯ จะสามารถจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงมือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องทำการล้างไตทางหน้าท้องได้ ซึ่งพื้นที่นี้เกิดน้ำท่วมมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จากการติดตามสถานการณ์พบว่าไม่มีผู้ป่วยที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเกิดปัญหาใดๆ 

นอกจากนี้ ยังมาดูว่ายังมีสิ่งใดที่ สปสช. จะต้องเพิ่มเติมเข้าไปในระบบการดูแลผู้ป่วยอีกบ้าง โดยกลุ่มที่ สปสช. เป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นมา การขนย้ายออกจากพื้นที่จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้นจึงถือโอกาสลงมาดูระบบต่างๆที่เตรียมไว้รองรับด้วย และขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ว่าขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เพื่อจัดหายานพาหนะเข้ามารับส่งผู้ป่วยได้

“พื้นที่ อ.บางบาล เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทุกปี และปีนี้มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว แต่เราก็ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างน้อยระบบการดูแลต่างๆ ต้องพร้อม ซึ่งเท่าที่ดูในวันนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าระบบของเรามีการประสานงานเรียบร้อย และ รพ.พระนครศรีอยุธยาได้มีการวางแผนติดตามดูแลผู้ป่วยที่ดี ทำให้คนไข้มีความมั่นใจต่อระบบบริการ”นพ.จเด็จ กล่าว

พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรงพยาบาลได้วางแผนการรับมือ เช่น คอยติดตามสถานการณ์ระดับน้ำ การคาดการณ์พื้นที่น้ำท่วมและสำรวจว่าพื้นที่นั้นมีคนไข้อยู่จุดไหนบ้าง จากนั้นจะเบิกน้ำยาล้างไตและยาต่างๆ ให้คนไข้เร็วขึ้น ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับ 2-3 เดือน นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ของคนไข้ แลละการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อติดต่อให้คำแนะนำกับคนไข้โดยตรง

“ปัจจุบันมีพื้นที่ อ.บางบาล และ อ.บางไทร ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ปีนี้น้ำท่วมไม่รุนแรง มีผู้ป่วยเพียง 4 รายที่บ้านถูกน้ำท่วมแต่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ดี ไม่พบปัญหาการติดเชื้อ ส่วนผู้ป่วยรายอื่นๆ ยังสามารถไปฟอกเลือดหรือล้างไตทางหน้าท้องได้ตามปกติ ประเมินดูแล้วคาดว่าปีนี้น่าจะผ่านสถานการณ์ได้อย่างสบายๆ”พญ.เสาวลักษณ์ กล่าว

ด้าน นายพีระ กล่าวว่า ไปรษณีย์ฯมีประสบการณ์จากอุทกภัยมาหลายรอบ จึงได้เตรียมการตั้งแต่สถานที่จัดเก็บน้ำยาล้างไตที่อยู่บนพื้นที่สูง เมื่อมีเหตุน้ำท่วมจะติดต่อประสานกับผู้ป่วยว่าพร้อมให้เข้าไปส่งน้ำยาหรือไม่ หากผู้ป่วยพร้อม ทางไปรษณีย์ฯก็จะหาช่องทางต่างๆในการเข้าไปจัดส่งให้ ถ้าผู้ป่วยไม่พร้อม ก็จะส่งไปที่สถานที่สำรองเพื่อรอให้ผู้ป่วยมารับไป รวมทั้งมีระบบ Tracking ติดตามความคืบหน้าในการจัดส่งและรายงานให้ สปสช. รับทราบสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาในการจัดส่งแต่อย่างใด

ขณะที่ นางชยุตา กลิ้งโพธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านคลัง กล่าวว่า ตำบลบ้านคลังประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี แต่ละครั้งนาน 2-3 เดือน ซึ่งทาง อบต. ได้จัดเตรียมเรือรับส่งผู้ป่วยไปขึ้นรถที่ถนนในกรณีที่ต้องไปโรงพยาบาล แต่งบประมาณในการจัดหายานพาหนะรับส่งผู้ป่วยยังใช้งบประมาณของ อบต. เป็นหลัก เพราะแม้ว่าขณะนี้ สปสช. จะเปิดให้ใช้เงินจากกองทุน กปท. มาจัดหายานพาหนะได้ แต่เนื่องจากงบประมาณรายหัวของ กปท.บ้านคลัง มีน้อย เพียงปีละประมาณ 100,000 บาท ดังนั้นหากดึงเงินส่วนนี้มาทำโครงการรับส่งผู้ป่วยก็จะมีงบไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนโครงการอื่นๆ