ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เผย สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย เหลืออีก 12 จ. กำชับสื่อสารประชาชนในการฟื้นฟูบ้านเรือน สถานที่สาธารณะ ช่วยดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจิต ส่วนสถานพยาบาลยังต้องปิดบริการเพียงแห่งเดียว เตือนยังมีฝนหนักระวังน้ำป่าหลาก-คินโคลนถล่ม 12 จังหวัดใต้ และเสี่ยงน้ำท่วมขัง 8 จ.

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 26/2567 และกล่าวว่า ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก อ่างทอง สุพรรณบุรี และกาฬสินธุ์ ภาพรวมมีผู้เสียชีวิตสะสมคงเดิม 75 ราย บาดเจ็บสะสม 2,421 ราย

มีสถานบริการสาธารณสุขต้องปิดบริการเพียงแห่งเดียว คือ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้บริการประชาชนสะสม 239,917 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางสะสม 33,906 ราย และประเมินสุขภาพจิตสะสม 57,523 ราย ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายได้ย้ำให้เร่งสื่อสารและช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลดทั้งการฟื้นฟูบ้านเรือน สถานที่สาธารณะต่างๆ การดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม การป้องกันฝุ่นละอองจากปัญหาโคลนแห้ง รวมถึงการประเมินและติดตามด้านสุขภาพจิต

นพ.สฤษดิ์เดช กล่าวต่อว่า สำหรับการฟื้นฟูสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ กองวิศวกรรมการแพทย์ และกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทีมซ่อมบำรุง (MSERT) ให้ความช่วยเหลือ 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะสั้น 1-7 วัน กู้ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบสื่อสารหลัก 2.ระยะกลาง ภายใน 30 วัน กู้รายหน่วยงาน เช่น ผู้ป่วยนอก ฉุกเฉิน ไอซียู ทันตกรรม ห้องยา เป็นต้น และ 3.ระยะยาว 20 ปี จะร่วมสำรวจออกแบบแนวทางวางผังเครื่องมือแพทย์และโครงสร้าง เพื่อป้องกันในระยะยาวหลังจากฟื้นฟูแล้วเสร็จ 30 วัน

ซึ่งเบื้องต้นได้เข้าฟื้นฟูแล้วที่ จ.น่าน 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลเชียงกลาง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ และสาธารณสุขอำเภอเมือง และ จ.แพร่ 1 แห่ง คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 60.3 ล้านบาท โดยเป็นระบบกำแพงกั้นน้ำ 38.5 ล้านบาทรองลงมาคือ เครื่องมือแพทย์ 17.9 ล้านบาท ได้ให้สถานบริการที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เร่งรายงานความเสียหายมายังส่วนกลางในภาพรวมเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

สำหรับเหตุการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงนี้ หลายพื้นที่ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2567 ใน 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎรร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่น้ำท่วมขังใน 8 จังหวัดเสี่ยงสูงสุด คือ พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล, นครปฐม อ.บางเลน อ.นครชัยศรี, สุราษฎร์ธานี อ.พระแสง, พิษณุโลก อ.บางระกำ, พิจิตร อ.เมือง อ.สามง่าม, สุพรรณบุรี อ.เมือง อ.สองพี่น้อง, นครพนม อ.นาทม อ.ธาตุพนม และนครศรีธรรมราช อ.ชะอวด โดยขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ป้องกันสถานพยาบาล เตรียมทีมบุคลากร ยา และเวชภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ประสบภัยและกลุ่มเปราะบาง