ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.อุ้มผาง เสนอรัฐบาล เพิ่มงบประมาณแก้ปัญหาทางการเงินระบบสาธารณสุข เผยข้อเสนอร่วมจ่าย อยู่ที่รัฐบาล แต่ต้องไม่ขัดหลักการ “หมอสงวน”  เห็นด้วยหากมีกองทุนดูแล รพ.แถบชายแดน เพราะส่วนใหญ่ให้บริการผู้ป่วยยากไร้ไม่มีสัญชาติไทย งบบัตรทองไม่ครอบคลุม แต่ต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรม 

 

โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก เป็นอีกโรงพยาบาลชุมชนสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ตามแนวชายแดนให้บริการดูแลรักษาไม่เพียงแต่คนไทย แต่เกือบครึ่งเป็นการบริการผู้ป่วยยากไร้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งชาวไทยภูเขา และคนชายขอบที่ไร้สัญชาติ รวมถึงชาวเมียนมาที่ข้ามแดนมารักษาฝั่งไทย   แน่นอนว่า การดูแลผู้ป่วยกลุ่มไม่มีสัญชาติไทย ย่อมไม่ได้อยู่ในงบประมาณของสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง

ปัญหาทางการเงิน รพ.อุ้มผาง กับงบบัตรทอง

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) อุ้มผาง จ.ตาก ยังเป็นแพทย์ดีเด่นในชนบท และแพทย์ดีเด่นของแพทยสภา  ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ภายในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ที่จ.นครราชสีมา  ว่า รพ.อุ้มผาง เป็นรพ.ที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินระดับ 7 มาตลอด เพราะงบประมาณในการดำเนินการต่างๆ ไม่เพียงพอ แม้จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็ยังไม่พอ เนื่องจากการดูแลประชาชนส่วนใหญ่เกือบครึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น งบประมาณส่วนหนึ่งจึงต้องพึ่งพาการบริจาคเข้ามาช่วย

“ปัญหาขาดสภาพคล่องไม่ใช่แค่รพ.อุ้มผาง ยังมีรพ.อื่นๆก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เพียงแต่ก็ต้องบริหารจัดการประคับประคองไปให้ได้ อย่างของรพ.อุ้มผาง เป็นพื้นที่อยู่ติดชายแดน การดูแลรักษาจะไม่ใช่แค่คนไทย แต่ยังมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติเรียกว่าเกือบครึ่ง เราไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องขอมนุษยธรรม” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ขอรัฐบาลเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้รพ.อยู่ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ผ่านมามีข่าว รพ.ทั้งสังกัดสธ.และรพ.โรงเรียนแพทย์ ประสบปัญหาถูกลดงบฯผู้ป่วยในจาก สปสช. ในส่วนของรพ.อุ้มผางประสบปัญหาหรือไม่ และมองทางออกในอนาคตเพื่อระบบสาธารณสุขยั่งยืนอย่างไร.. นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า  เป็นกันทุกแห่ง เพราะอัตราการจ่ายเงินของสปสช. ลดลงกันทุก รพ. ไม่ว่าจะเป็นรพ.ชุมชน รพ.จังหวัด อย่างรพ.ศูนย์ หรือรพ.โรงเรียนแพทย์ก็เช่นกัน

ดังนั้น ทางที่ดีอยากเรียนขอทางรัฐบาล จัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ ไม่ติดขัด อย่างที่ผ่านมาปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยให้ข้อมูลเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า รพ.ในสังกัดสธ.มีเงินบำรุงรวมกัน 2 หมื่นล้านบาท อยู่ได้ 2 เดือนแบบนี้ก็น้อยเกินไป ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม และรพ.ในกระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นรพ.รัฐ ที่ผ่านมาไม่เคยใช้สุรุ่ยสุหร่าย ไม่ได้ทุจริตอะไร เอางบมาก็มาบริการประชาชน

“รัฐต้องช่วย ที่ผ่านมารพ.ได้รับการจัดสรรเงินน้อยเกินไปกว่าที่จำเป็นต้องใช้กับประชาชน จะเป็นไปได้อย่างไร หากไม่มีเงินมาช่วยเรา ดังนั้น ขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยให้ผ่าน สปสช.ตามเดิม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงไม่ต้องมาลดเลตการจ่ายเงินให้รพ.เหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้สปสช.จ่ายให้กับ รพ.ได้ตามจริง หรือให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ถูกหั่นลดลง” ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าว

เห็นด้วย Provider Board  

เมื่อถามว่าขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการฝ่ายบริการ หรือที่เรียกว่า Provider Board จะเป็นทางออกในเรื่องค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ถือเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้ผู้ซื้อบริการ คือ สปสช. และผู้ให้บริการ คือรพ.สังกัดต่างๆ ได้มาพูดคุยกัน นำข้อมูลจริงมาพูดคุย เพื่อจะได้หาจุดที่พอดีร่วมกัน ตรงนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนประเด็นในการพิจารณาหารือก็จะเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ หรือกรรมการที่พูดคุยกัน

เมื่อถามว่า รพ.อุ้มผาง ในฐานะหนึ่งในผู้ให้บริการ และเป็นรพ.ชายแดน ได้ถูกเชิญเข้าร่วมพูดคุยงบขาขึ้นปีงบประมาณ 2569ด้วยหรือไม่  นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ไม่เคยได้รับเชิญ ไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งถ้ามีตัวแทนเข้าไปก็ถือว่าเพียงพอ อย่าง Provider Board หากมีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว และมีตัวแทนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจริงๆก็จะดี

รพ.ไม่ต้องการกำไร  ขอให้อยู่ได้ มีเงินจ่ายค่ายา ค่าจ้างบุคลากร

ถามอีกว่าหากรัฐบาลต้องเพิ่มงบบัตรทอง ควรเพิ่มสัดส่วนเท่าไหร่ถึงเพียงพอ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจตัวเลข แต่จริงๆเรื่องกำไรขาดทุน เราไม่ได้มองแบบนั้น เพราะรพ.รัฐเราดูแลชาวบ้าน ไม่ได้หวังกำไรขาดทุนอะไร เพียงแต่ขอให้อยู่ได้ เพราะถ้าอยู่ไม่ได้ก็ดูแลชาวบ้านไม่ได้ อย่างกำไรมากแค่ไหน กำไรไปก็จะทำอะไรได้ เพราะไม่ใช่ของส่วนตัว เป็นของรพ. เป็นของรัฐ เราแค่ขอแค่อยู่ได้ เพราะมีรายจ่ายเยอะ อย่างบุคลากร การจ้างคนทำงาน อย่างลูกจ้าง  หากรพ.ไม่มีเงินมาจ้าง  คนทำงานไม่ได้เงิน จะเป็นไปได้อย่างไร หรือแม้แต่เงินเอามาจ่ายค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้น ขอแค่อยู่ได้

ถึงเวลาต้องร่วมจ่ายหรือยัง..

เมื่อถามว่ากรณีร่วมจ่าย ควรเป็นทางออกที่ยั่งยืนหรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า อยู่ที่รัฐบาล อยู่ที่นโยบาย เพราะหากจะร่วมจ่ายจริงๆก็ไม่ควรมากเกินไป เนื่องจากจะขัดหลักการของนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ( เลขาธิการสปสช.คนแรก และเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานงานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ที่เริ่มต้นจาก 30 บาทรักษาทุกโรค)  เพราะนพ.สงวน ให้หลักการว่า ประเทศไทยไม่ควรมีใครต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ดีขึ้นมาก เพียงแต่ยังขาดปัจจัย ขาดทรัพยากรในการดำเนินการได้ อย่างเงิน หากไม่มีเงิน ก็ซื้อของ ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ไม่ได้ เป็นต้น

“ทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายการเมือง ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายรัฐบาลจะมีนโยบายอะไร หรือจะกลับคืนจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรคเหมือนเดิม หรือไม่จ่าย ผมไม่ได้มีปัญหาอะไร ยังคงให้บริการประชาชน ทั้งคนไทย และคนไม่มีสัญชาติไทยเช่นเดิม เพราะเป้าหมายของรพ.ในสธ.คือ ต้องให้บริการประชาชนที่มีความจำเป็นในการรักษาทางการแพทย์ และหลักมนุษยธรรม ซึ่งตรงนี้สำคัญ จริงๆไม่ใช่แค่อุ้มผาง ยังมีอีกหลายที่ที่ต้องให้บริการ” นพ.วรวิทย์ กล่าว

เสนอกองทุนช่วยรพ.ชายแดน

ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าวอีกว่า อย่างรพ.ชายแดน ที่ผ่านมาตนเคยเรียกร้องขอให้มีกองทุนสำหรับดูแลประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งรพ.ที่ติดชายแดนมีอีกเยอะ ไม่ใช่แค่รพ.อุ้มผาง เรื่องนี้เป็นปัญหาท้าทาย เรื่องมนุษยธรรม เป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อถามย้ำว่าหากมีกองทุนเฉพาะช่วยเหลือรพ.ตามแนวชายแดนจะดีกว่าใช่หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องดี แต่คิดว่าปัญหาตอนนี้น่าจะเป็นทั่วประเทศแล้ว คงต้องช่วยเหลือทุกสถานบริการ

 

ผู้ที่สนใจบริจาคติดต่อได้ที่ รพ.อุ้มผาง หรือ มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม มุ่งช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้โดยไม่เลือกเชื้อชาติ หรือติดต่อ โทร. 081-950-0080