ปลัด สธ. เผยทางแก้ปัญหารพ.พื้นที่แนวชายแดน อยู่เกาะ  ถิ่นทุรกันดาร  ปัญหาแตกต่าง ไม่ใช่ติดลบทางการเงินทั้งหมด ส่วนใหญ่ขาดแพทย์ พร้อมตั้งเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณสุขพื้นที่เฉพาะ” ดึงหมอจบใหม่ฝึกอบรม พื้นที่ได้หมอ ส่วนหมอได้ประสบการณ์ พร้อมทำเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาได้งบประมาณดำเนินการ หวังแก้ปัญหาระยะกลางระยะยาว 

 

จากกรณีผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ประสบปัญหาวิกฤติสถานะทางการเงินระดับ 7 และยังขาดกำลังคน เนื่องจากงานสาธารณสุขชายแดนจะไม่เหมือนในเมือง ต้องดูแลประชากรที่ไม่ใช่คนไทย แต่ไม่ดูแลไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องมนุษยธรรม และยังเป็นการป้องกันโรคระบาดที่จะแพร่มายังคนไทย กระทั่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการช่วยเหลือ ส่งงบประมาณ และสั่งสำรวจรพ.ชายแดนทั่วประเทศว่า ประสบปัญหาอย่างไร เพื่อหาทางแก้ไขเป็นระบบระยะยาวนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า  กรณีโรงพยาบาลชายแดนและถิ่นทุรกันดารนั้น เบื้องต้นที่มีปัญหาขาดแคลนแพทย์ บุคลากร และเป็นโรงพยาบาล(รพ.)ที่มีลักษณะเฉพาะ อย่าง รพ.ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ เช่น รพ.แก่งกระจานทั้งรพ.ตามแนวชายแดน และห่างไกล เช่น แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ หลีเป๊ะ กำลังรวบรวมว่า มีกี่กลุ่ม จากนั้นจะจัดกระบวนการในการดูแลให้เหมาะสม

ตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณสุขพื้นที่เฉพาะ

“เบื้องต้นจะจัดเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่เฉพาะ เช่น ตามแนวชายแดน ก็จะมีศูนย์ที่เมื่อมีบุคลากรจบการศึกษา และอยากทราบปัญหาชายแดนก็ส่งไปฝึกอบรมตรงนั้น รวมไปถึงการศึกษาวิจัยต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการแก้ปัญหาระยะกลาง และระยะยาวได้” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง เสนอตั้งกองทุนเฉพาะสาธารณสุขชายแดน นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆศูนย์ที่จะตั้งขึ้นนั้น ทำเยอะกว่ากองทุนอีก เพราะเป็นโครงการต่อเนื่อง มีทั้งฝึกอบรม ทั้งวิจัยพัฒนา ซึ่งรพ.ที่มีลักษณะเฉพาะ จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง รวมถึงการวิจัยด้วย และอยากให้เป็นสถานที่ที่สามารถฝึกอบรมด้วย เพื่อให้มีคนไปหมุนเวียน ส่วนจะตั้งกองทุนหรือไม่อย่างไรค่อยมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะการวิจัยพัฒนาจะมีงบประมาณลงไปอยู่แล้ว โดยการตั้งศูนย์ฯดังกล่าวจะพิจารณาตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ อย่างจ.แม่ฮ่องสอน มีความจำเป็น แต่อย่างจ.นนทบุรี บริบทไม่เหมือนกันก็ไม่ต้อง เพราะไม่มีพื้นที่พิเศษ แต่อย่างชายแดน บุคลากรทางการแพทย์ หมอไม่ค่อยไปอยู่ พื้นที่ไหนมีประเด็นก็จะมีการจัดตรงนี้ เพื่อให้เกิดความครบวงจรด้วย

เมื่อถามว่าปัจจุบันกองทุนคืนสิทธิ์สำหรับคนที่อยู่ในประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะ ยังมีอยู่ใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กลาวว่า  กองทุนคืนสิทธิ์ยังมีอยู่ แต่ข้อเสนอให้ตั้งกองทุนสาธารณสุขชายแดนอีกนั้น ก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะหากตั้งเพิ่มก็จะมีข้อจำกัดต่างๆ อีก อย่างไรก็ตาม มองว่าน่าจะทำเป็นเรื่องการวิจัย การฝึกอบรมบุคลากรน่าจะยั่งยืนมากกว่า และเท่าที่ถามน้องๆหมอหลายคนก็อยากทราบว่ารพ.ชายแดนอยู่กันอย่างไร มีการดำเนินการ ให้บริการอย่างไรบ้าง  ซึ่งหากตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมฯ ก็จะได้นำประสบการณ์มาใช้กับพื้นที่ตัวเอง และยังเกิดประโยชน์ทุกฝ่าย คนไปฝึกอบรมก็ได้ประโยชน์ ทางพื้นที่ก็ได้หมอ และยังได้งบประมาณจากการฝึกอบรม การวิจัยพัฒนา ก็จะมีงบตรงนี้ด้วยเช่นกัน  

รพ.ในพื้นที่เฉพาะมีปัญหาแตกต่าง ไม่ใช่ติดลบทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการตั้งศูนย์ดังกล่าวจะเป็น รพ.ที่มีปัญหาสถานะทางการเงินระดับ 7 หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นรพ.ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาะ อย่างแม่ฮ่องสอน เป็นชายแดน หมอก็อาจไม่ค่อยอยากไปอยู่ เป็นต้น หรือบึงกาฬก็เช่นกัน ส่วนแก่งกระจาน ไม่ได้ติดลบ แต่เป็นพื้นที่สูง มีอุทยานฯแห่งชาติ การมีศูนย์ฝึกอบรมก็จะช่วยให้บุคลากรทราบว่า เป็นอย่างไร เพราะบางครั้งอยู่แต่ในเมืองก็จะไม่ทราบได้ ทั้งนี้ สำหรับรพ.เหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาติดลบทางการเงิน แต่เป็นปัญหาเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบุคลากร

เมื่อถามว่ากรณีการให้บริการของรพ.พื้นที่เฉพาะ อย่างกรณีชายแดนมีปัญหาค่าใช้จ่าย นพ.โอภาส กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายแต่ละแห่งก็จะไม่เหมือนกัน อย่างชายแดนมีคนอพยพมา ไม่รักษาก็ไม่ได้ เป็นเรื่องมนุษยธรรม แต่เราก็ต้องหาทางทำอย่างไรให้รพ.อยู่ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีบัตรทองไม่สามารถนำมาใช้ในการดูแลกลุ่มไม่ใช่คนไทย ตรงนี้ก็ต้องหาแหล่งงบประมาณด้านอื่นๆ เช่น เงินวิจัยอย่างที่กล่าวมา เป็นต้น