ปลัดสธ. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข จ.ตาก ชูการพัฒนาระบบบริการดูแลสุขภาพคนไทยและคนต่างชาติพื้นที่ชายแดน ตั้ง “สุขศาลาข้ามแดน” พื้นที่รอยต่อส่งผู้ป่วยรักษาฝั่งไทย พร้อมจัดหาเครื่องมือแพทย์เสริมศักยภาพ บริการผู้ป่วยนอกแบบ smart OPD รักษาผ่านแอปพลิเคชั่นโครงการ “1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟอกไต”  ยังมีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลดค่าใช้จ่ายระยะยาว

 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลอุ้มผาง และโรงพยาบาลพบพระ จังหวัดตาก ว่า จังหวัดตากมีพื้นที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีช่องทางการเข้า-ออก ทั้งช่องทางทางการและช่องทางธรรมชาติมีสถานการณ์ผู้หนีภัยจากการสู้รบ และมีการเคลื่อนย้ายของคนเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลในพื้นที่ติดชายแดน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่สอด โรงพยาบาลแม่ระมาด โรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลพบพระ และโรงพยาบาลอุ้มผาง จึงต้องดูแลทั้งประชากรไทยในพื้นที่และประชากรต่างชาติ เช่น บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและสิทธิ์ คนไทยรอพิสูจน์สัญชาติ แรงงานที่มีประกันสุขภาพ และนักเรียนต่างด้าวที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน รวมกว่า 7 แสนคน

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า พื้นที่แนวชายแดนถือเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษ การดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขจึงแตกต่างกับพื้นที่ทั่วไป ซึ่งพบว่าโรงพยาบาล 5 แห่งในชายแดนจังหวัดตาก ได้พัฒนาการให้บริการตามบริบทพื้นที่ อาทิ การออกให้บริการเชิงรุกในพื้นที่สูง พื้นที่ทุรกันดาร การเฝ้าระวังควบคุมโรคสำคัญที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มผู้หนีภัยจากการสู้รบ รวมทั้งมีการจัดตั้ง “สุขศาลาข้ามแดน” ในพื้นที่รอยต่อที่มีการส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดนมารักษาที่ฝั่งไทย เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนางานตามนโยบาย ทั้งการจัดหาเครื่องมือแพทย์เสริมศักยภาพการให้บริการ ระบบบริการผู้ป่วยนอกแบบ Smart OPD การรักษาผ่านแอพพลิเคชั่นโครงการ “1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟอกไต” ซึ่งทำให้ไม่มีผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตตกค้าง รวมทั้งติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เช่นที่ โรงพยาบาลแม่สอด ติดตั้งขนาด 300 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เฉลี่ยเดือนละ 107,436 บาท เป็นต้น

 

สำหรับปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่พบในพื้นที่ชายแดน ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้รากสาดใหญ่ โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้เลือดออก อหิวาตกโรค และโรคไข้มาลาเรีย โดยข้อมูลล่าสุด ปีงบประมาณ 2566 (9 เดือน) โรงพยาบาล 5 แห่ง ชายแดนจังหวัดตาก ให้บริการผู้ป่วยนอกแล้วจำนวน 850,059 ราย และผู้ป่วยในจำนวน 189,770 ราย