สธ. เปิดเวทีประชุมวิชาการ ปี 67 มุ่งเน้น “นวัตกรรมการจัดการสุขภาพ ยกระดับบริการยุคดิจิทัล” มอบรางวัลนักการสาธารณสุขดีเด่น “รางวัลชัยนาทนเรนทร” ประจำปี 2566 มี “นพ.สมหวัง ด่านวิจิตร” “นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์” นายกเทศมนตรี “สุรพล เธียรสูตร”  และ “อสม.วันทิตย์ ชอบจิตต์”  พร้อมมอบรางวัลยกระดับหน่วยบริการดีเด่น หรือ SAP Award ประจำปี 2567 ขึ้นเป็นปีแรก  ทั้ง รพ. “เอกลักษณ์โดดเด่น” เป็นของรพ.อภัยภูเบศร  รวมทั้งมอบรางวัล “เขตสุขภาพที่9 รับรางวัลระดับยอดเยี่ยมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม หรือ Care D+ อย่างเข้าอกเข้าใจ  

 

เมื่อวันที่ 12 กันยายน  ที่หอประชุมวงษ์ชวลิตกุล มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยั่งยืน สู่การยกระดับบริการสาธารณสุขในยุคดิจิทัล” โดยมี บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมงาน ประมาณ 5,000 คน 

รางวัลยกระดับหน่วยบริการดีเด่น หรือ SAP Award 2567

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มคุณภาพการบริการด้วยการสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยยกระดับโรงพยาบาลเป็น 3 ระดับ ได้แก่ โรงพยาบาลมาตรฐาน (Standard Hospital : S) โรงพยาบาลที่เป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (Academy Hospital : A) และโรงพยาบาลที่ให้บริการขั้นสูง (Premium Hospital : P)

โดยได้จัดให้มีการมอบรางวัลยกระดับหน่วยบริการดีเด่น หรือ SAP Award ประจำปี 2567 ขึ้นเป็นปีแรก ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาล “ปรับโฉมดีเด่น” ระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรคประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ และโรงพยาบาลหนองคาย จ.หนองคาย ระดับโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลโคกสูง จ.สระแก้ว และโรงพยาบาลสามชุก จ.สุพรรณบุรี และ 2.โรงพยาบาล “เอกลักษณ์โดดเด่น” ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี จากการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์แผนไทย

รางวัลCare D+

รวมทั้งมอบรางวัล “การดำเนินงานตามนโยบายการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ด้านการสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ ในระดับเขตสุขภาพ โดยเขตสุขภาพที่ 9 ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม (Platinum Award) เขตสุขภาพที่ 1 ได้รับรางวัลระดับดีเด่น (Gold Award) และเขตสุขภาพที่ 12 ได้รับรางวัลระดับดี (Silver Award)

รางวัลชัยนาทนเรนทร ปี66

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนักการสาธารณสุขดีเด่น “รางวัลชัยนาทนเรนทร” ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าและเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข โดย 1) ประเภทวิชาการ ได้แก่ ศ.(เกียรติคุณ) นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ที่ปรึกษาภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บุกเบิกและวางรากฐานระบบงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ 2) ประเภทบริการ ได้แก่ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก แพทย์ชนบทดีเด่น 3) ประเภทผู้นำชุมชน ได้แก่ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน จ.น่าน ผู้นำการขับเคลื่อนนโยบายสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โครงการ “จิตอาสาทำดี ที่เมืองน่าน” และ 4) ประเภทประชาชน ได้แก่ นางวันทิตย์ ชอบจิตต์ อสม. ต.ดงเจน จ.พะเยา ผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตในชุมชน “เฮือนแม่หญิงดงเจน”

หมออุ้มผาง ย้ำทำงานเพื่อชาวบ้าน แม้ไม่มีสัญชาติไทย

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก แพทย์ชนบทดีเด่น กล่าวว่า การที่ตนมาทำงานที่รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ไม่ได้เสียสละอะไร แต่เป็นการทำงานที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน เพราะอุ้งผางอยู่ในพื้นที่ห่างไกล อย่างชาวบ้านก็จะมีคนกระเหรี่ยง ซึ่งอยู่สองฝั่งทั้งเมียนมา และฝั่งไทย ก็จะประสบปัญหาสุขภาพ และพวกเขาก็ไม่มีสัญชาติไทย แม้ไทยจะมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 พวกชาวบ้านไม่ได้สิทธิเพราะไม่มีสัญชาติไทย แต่รพ.อุ้มผาง เป็นรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องดูแลพวกเขา ทั้งคลอดลูกตายก็มี เป็นโรคมาลาเรียขึ้นสมองอีก ก็ต้องดูแลกันไป

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน จ.น่าน กล่าวว่า ถ้าคนไทยยังทำแบบเดิม เริ่มต้นเดิมๆ แต่คาดหวังเกิดการเปลี่ยนแปลงคงยาก สิ่งสำคัญคนต้องเปลี่ยน เมืองจะเปลี่ยน เมืองน่านจึงมุ่งเน้นเพื่อให้ทำเมืองเป็นเมืองสุขภาพดี เมืองปลอดภัย เป็นเมืองน่าอยู่

นางวันทิตย์ ชอบจิตต์ อสม. ต.ดงเจน จ.พะเยา กล่าวว่า ได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตชุมชนมา 14 ปีมีเคสปรึกษาเดือนละ 3 เคส มีการติดตามไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง อย่างกรณีชายคนหนึ่งที่มีสองเพศ ซึ่งมีประวัติทำร้ายความรุนแรงครอบครัว จึงไปติดตามจนพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิต โดยช่วยเหลือกับหมอที่รพ.สต. จนเขายอมรับการรักษา จนสามารถให้ทานยาได้ กระทั่งอาการดีขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น และสามารถคืนเขากลับสู่ชุมชน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ที่จัดขึ้นตอนนี้เหมือนเป็นที่พักที่อิงที่หนุนให้ชุมชนในบ้าน ขณะนี้อยากขยายโมเดลนี้ไปให้ทั่วจังหวัดพะเยา ขณะนี้ได้รับงบประมาณจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์(พม.)  2.5 แสนบาท โดยนำไปใช้ในการส่งเสริมให้ความรู้กับผู้นำ เป็นต้น

รางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม

สำหรับผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2566 มีผู้ได้รับรางวัล 6 คน ได้แก่ 1) นพ.ภาคิน ธนการเวคิน รพ.บรบือ จ.มหาสารคาม เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการจัดบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็ก โรงพยาบาลบรบือ จังหวัดมหาสารคาม” 2) พญ.ชิดชนก ชูวงศ์โกมล รพ.มหาราชนครราชสีมา เรื่อง “Effect of a Single-dose Dexmedetomidine on Postoperative Delirium and Intraoperative Hemodynamic Outcomes in Elderly Hip Surgery; a Randomized Controlled Trial.” 3) นางสุภาพรณ์  ตัณฑ์สุระ รพ.ขอนแก่น เรื่อง “การพัฒนาต้นแบบระบบการดูแลต่อเนื่องหลังการดูแลฉุกเฉินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและการบาดเจ็บที่สมอง จังหวัดขอนแก่น” 4) นางศิโรรัตน์ ชูสกุล รพ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการบริการทางเภสัชกรรมผู้ป่วยในเพื่อป้องกันการแพ้ยาข้ามกัน ในกลุ่มยาที่มีโอกาสแพ้ข้ามกันสูง ภายใต้บริบทของโรงพยาบาลวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม” 5) นส.นิโลบล เชื่อมสันเทียะ รพ.มหาราชนครราชสีมา เรื่อง “ผลการประเมินความเหมาะสมของการสั่งใช้ NOACs ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา” และ 6) นายภูริพัฒน์ กะมิง รพ.เทพา จ.สงขลา เรื่อง “Thepha Doctor เทคโนโลยีให้บริการสาธารณสุขเพื่อชุมชนและการให้บริการที่เสมอภาคเท่าเทียม อำเภอเทพา”

ตัวอย่างบูธนิทรรศการ

ทั้งนี้ ภายในงานประชุมวิชาการ ยังมีบูธจากหน่วยงานต่างๆ เช่น  องค์การเภสัชกรรม ร่วมจัดนิทรรศการในหัวข้อ Innovative Care For Life สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต โดยมีเนื้อหา ประกอบด้วย เรื่อง ความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนายาเม็ดไซทิซีน (ยาเลิกบุหรี่) และผลงานการได้รับรางวัล ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ประจำปี 2567 (Premium Herbal Products 2024) โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข”