ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ระดมหน่วยงานเกี่ยวข้องถกปัญหา รพ.ขาดทุน เผยชมรม รพศ./รพท. และรพ.สระบุรี เสนอทางออก 3 ระยะ แก้ปัญหางบสาธารณสุข หลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หนักสุดช่วง มิ.ย.ที่ผ่านมา

 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่อาคารรัฐสภา นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.การสาธารณสุข)  สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่หนึ่ง ร่วมแถลงข่าวกรณีงบประมาณด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า  คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข  ได้มีการติดตามงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีปัญหาในเรื่องผลกระทบงบประมาณของผู้ป่วยในที่ไม่เพียงพอ ที่ส่งผลให้มีโรงพยาบาลออกมาสะท้อนถึงปัญหาขาดทุนในการดูแลผู้ป่วยบัตรทองในช่วงต้นปี  

ทั้งนี้  กมธ.การสาธารณสุข ได้เชิญกระทรวงสาธารณสุข สปสช. ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) โรงพยาบาลสระบุรี มาร่วมประชุมชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น  เกี่ยวกับปัญหา สปสช. จ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยใน เนื่องจากสปสช.ใช้วิธีการคำนวณแบบค่าน้ำหนักสัมพันธ์ แบบวินิจฉัยโรคร่วม หรือ Adj RW (Adjusted Relative Weight) หรือจ่ายต่อหน่วยความซับซ้อนของโรค ซึ่งในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ ด้วยจำนวนผู้ป่วยในที่เข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น  ทำให้งบประมาณที่ได้จัดสรรเพียงจำนวน 40,269 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพียงพอในการจ่ายที่อัตรา 8,350 บาทต่อหน่วย จนถึงสิ้นปีงบประมาณนี้  จึงมีการปรับตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาให้เหลือในอัตรา 7,000 บาทต่อหน่วย  

เสนอทางออก 3 ระยะ

สำหรับการประชุมวันนี้ (19ก.ย.67) ทางชมรมรพศ./รพท. และรพ.สระบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ ได้มีข้อเสนอต่อกมธ.การสาธารณสุข เป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

1. ระยะสั้น ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในต้องจ่ายในอัตราขั้นต่ำ 8,350 บาทต่อหน่วย 

2. ระยะกลาง งบผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2568 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องไม่เปลี่ยนไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น และ

3. ระยะยาว ต้องนำต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงมาคำนวณกรอบงบประมาณ การเพิ่มสิทธิประโยชน์จะต้องมีงบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติม และปรับแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เหมาะสม เช่น ยกเลิกการหักเงินเดือนในค่าบริการผู้ป่วยใน ปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เพิ่มองค์ประกอบของผู้ให้บริการ และกระจายอำนาจให้ระดับเขตสุขภาพมากกว่าส่วนกลาง

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริการของโรงพยาบาลในการดูแลประชาชน   ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังได้เสนอของบ กลางเพิ่มเติมจากรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 5,924 ล้านบาท โดยจำนวนนี้นอกจากสนับสนุนการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่แล้ว จำนวนหนึ่งยังสามารถนำมาบริหารจัดการจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยใน ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะได้มีการหารือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 23 ก.ย. นี้