ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดสปสช.วาระพิเศษ ถกงบกลาง 5,924 ล้านบาท จัดสรรงบผู้ป่วยในไม่ใช่ 7 พันบาทต่อหน่วยแน่นอน แต่อย่างต่ำเป็น  8,154 บาท สูงสุดไม่เกินเท่าเดิม  8,350 บาท ส่วนงบบัตรทองต้องเพิ่มหรือไม่ เราต้องเกรงใจรัฐบาล ทำให้โรคลดลงด้วย เดินหน้าดันป้องกันลดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (เอ็นซีดี) หยุดยั้งคนก่อโรค ก่อค่าใช้จ่าย ดึงอสม.ช่วย และให้ค่าตอบแทน ขณะที่งบ "คลินิกบัตรทองกทม." ยังไม่จบ

 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 10(3) ประจำปี 2567 วาระพิเศษ ในประเด็น "การปิดงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 และการใช้งบกลางคงเหลือ" ว่า  วันนี้ บอร์ดสปสช. พิจารณาให้ใช้งบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติจำนวน 5,924.31 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเติม เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้นำรวมกับงบรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมของปีงบประมาณ 2566 และรายรับอื่นระหว่างปีรอปิดบัญชีปี 2567 ที่ไม่มีภาระผูกพัน  

สำหรับปีงบประมาณต่อไป 2568 ข้อห่วงใยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้พูดถึงงบประมาณที่ใช้ในผู้ป่วยนอก (OPD) ที่มีการส่งตัวไปยังโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการเบิกจ่ายซ้ำซ้อน อาจเป็นเพราะในอดีตที่เริ่มทำกันมา อาจจะมีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เราจึงต้องระมัดระวังในเรื่องของการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนด้วย

ประเด็นงบ คลินิกชุมชนอบอุ่น

โดยเฉพาะปัญหานี้ทำให้ คลินิกชุมชนอบอุ่น ต่างๆ ออกมาบอกว่าตัวเองขาดทุน อย่างเวลามีผู้ป่วยไปรักษาที่คลินิกชุมชนอบอุ่นก็เบิกจ่ายได้เพียง 500 บาท แต่ถ้าส่งตัวไปรักษาใน รพ. ขนาดใหญ่ในโรคเดียวกันกลับได้มากถึง 1,500 บาท ทางคลินิกชุมชนอบอุ่นก็อยากจะปรับให้เท่ากันหรือมากขึ้น เราก็ดูว่าถ้าปรับ รพ. ใหญ่ลงมาให้เท่ากับคลินิกฯ ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน และไม่สามารถพูดคุยให้จบลงได้

"ต้นทุนการรักษาโรคของ รพ. ใหญ่ กับของคลินิกฯ มีความแตกต่างกัน ทำให้มีปัญหา ก็จะมีเสียงพูดว่าเขาอยู่ไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เพราะมาตรฐานการรักษาต่างกัน เครื่องมือ ค่าใช้จ่ายต่างกัน เหมือนเราไปห้างสรรพสินค้ากับการซื้อของร้านค้าชุมชนใกล้บ้าน ราคาก็จะต่างกัน" นายสมศักดิ์ กล่าว

เคลียร์งบ "ผู้ป่วยใน" จ่ายรพ.

เมื่อถามว่าผู้ป่วยใน (IPD) มีปัญหาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยในไม่มีปัญหา ตัวเลขการเบิกจ่ายที่คิดตามความรุนแรงของกลุ่มโรค (DRGs) สัดส่วนที่ 8,350 บาทต่อหน่วย (AdjRW)  ถ้าไม่ได้งบประมาณเพิ่มมาเลยก็จะอยู่ที่ 8,154 บาท ตัวเลขก็จะแตกต่างกันเล็กน้อย ห่างกันแค่ 190 กว่าบาท พอเรามีเงินมาเติมให้มันก็มากขึ้น แต่ก็ไม่ให้เกิน 8,350 บาท ตามเพดานที่กำหนดไว้

เมื่อถามย้ำตัวเลขการเบิกจ่ายงบผู้ป่วยในเป็นตัวเลขจำนวนเท่าไหร่ เท่าอัตราเดิม 8,350 บาทต่อหน่วยหรือไม่   .... นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 8,154 บาทอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มก็ไม่เกิน 8,350 บาท และโดยเฉลี่ยก็ไม่ใช่ 7,000 บาท เพราะตัวเลขนี้เป็นการประมาณการในช่วงนั้น เนื่องจากเป็นงบประมาณปลายปิด สปสช. ก็กลัวว่าจะไม่พอ แต่ตามที่ตนคำนวณแล้วอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 8,154 บาท ขั้นสูงสุดก็คือ 8,350 บาท เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันไป

ต้องเกรงใจรัฐบาล ถ้าเพิ่มงบประมาณ

ถามต่อว่าในการจัดสรรงบประมาณสำหรับกองทุนบัตรทองในปีงบประมาณ 2568 จะต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าไม่ทำอะไรในการหยุดยั้งคนป่วย ทำให้คนป่วยน้อยลง งบประมาณที่ใช้ในการรักษาต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน และเราอาจจะเหนื่อยกับการที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

"เราต้องเกรงใจรัฐบาลด้วย ไม่ใช่จะขอเอา ขอเอา เราก็ต้องบริหารให้พอ ผมเรียนแล้วว่าในปีใหม่นี้ตนจะทำเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมทุกกองทุนการรักษาปีละกว่า 130,000 ล้านบาท ถ้าเราสามารถหยุดยั้งคนป่วยที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงขึ้นได้ รางวัลตรงนี้ก็ควรนำมาตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออย่างไรก็กำลังทำกฎหมายกันอยู่ ระดมความเห็นกันอยู่ ปีงบประมาณใหม่นี้ก็ต้องพูดเรื่องนี้เป็นหลัก" รมว.สาธารณสุข กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากมติที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้ ยังให้ สปสช. ดำเนินการโดยทันที ซึ่งทาง สปสช. จะมีการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกี่ยวกับการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ให้สอดคล้องกันต่อไป 

 

งบกลาง 5,924 ล้านแบ่งสัดส่วนทุกอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า งบกลาง 5,924 ล้านบาท ในการจ่ายผู้ป่วยในต้องแบ่งสัดสวนการจ่ายอย่างไร  นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จ่ายทุกรายการที่เติมมาทุกรายการทั้งหมด เฉลี่ยกันทั้งหมด 

"ก็ใช้งบจนหมด หมายความว่า มันมีไอเท็มอื่นให้ใช้ได้หมด ไม่เหลือหรอก ทุกไอเท็มที่มันขาด ๆ เกิน ๆ หรือผู้ป่วยบริการเฉพาะ โดยปกติ 30 บาทรักษาทุกโรค ดูให้ในโรคปฐมภูมิ แต่วันนี้ ถ้าเป็นโรคมะเร็ง ไม่ใช่ปฐมภูมิ จึงเพิ่มไอเท็ม เพิ่มรายการว่า ผู้ป่วยเฉพาะ เลยควักเงินตรงนี้มาจ่ายให้ เพราะเราเพิ่มบริการ เช่น โรคมะเร็ง โรคไต และโรคหลอดเลือด" รมว.สาธารณสุขกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 26 ก.ย. จะมีการแถลงนโยบายภาพรวมของ สธ. นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  โดยปกติ ผมไปทำงานที่ไหน สิ้นปีงบประมาณก็จะแถลง เก่าๆ เราทำอะไรไว้บ้าง ปีใหม่เราจะทำอะไร ก็บอกหัวข้อให้ได้ตามกวดขัน  

 

ปิดงบประมาณรายจ่ายใหม่ ส่งเบิก 15 ก.ย.ของทุกปี

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้ท่าน รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้มีการจัดขึ้นเป็นวาระพิเศษ เพื่อเร่งแก้ปัญหางบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องด้วยบริการในปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการปรากฏว่า ได้มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวนมาก ทำให้มีผลงานบริการมากกว่างบประมาณที่จัดสรรไว้ จึงจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมในการปิดงบประมาณรายจ่าย รวมถึงการขอเพิ่มเติมจากงบกลางฯ ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ สปสช. จะเร่งดำเนินการโอนค่าบริการให้กับหน่วยบริการโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้นของการประชุมฯ ทางประธานบอร์ด สปสช. ยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อภาระโรคค่าใช้จ่ายสูงที่ก่อให้เกิดการล้มละลายและโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดัน ที่นำไปสู่โรคร้ายแรงเหล่านี้ และภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงงบประมาณกองทุนบัตรทองฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งประชาชนสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดอัตราการป่วยได้ ดังนั้นจึงขอฝากให้ทุกคนช่วยกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้ปิดงบประมาณรายจ่ายจากข้อมูลที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 กันยายนของทุกปี เพื่อให้การดำเนินการโอนเงินให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพและเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี ส่วนข้อมูลเบิกจ่ายหลังวันที่ 15 กันยายน ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป รวมถึงการนำงบประมาณคงเหลือจากการเบิกจ่ายให้นำไปรวมกับงบประมาณในปีถัดไป    

ทั้งนี้ ในการประชุม กรณีรายการค่าบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอ และในกรณีที่มีงบประมาณคงเหลือให้นำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมกับค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ Adj.RW  หากยังมีงบประมาณคงเหลือก็ให้ยกยอดไปในปีถัดไป ยกเว้นในส่วนของงบกลางฯ ให้เบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567