ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เปิดโครงการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการจัดการความขัดแย้งในระบบสาธารณสุข เผยมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลเฉลี่ย 30 คดีต่อปี ฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุข รัฐจ่ายค่าเสียหายเฉลี่ย 200,000 บาทต่อคดี ชี้ "นักไกล่เกลี่ย" เป็นกลไกสำคัญช่วยลดคดี แก้ไขข้อขัดแย้งในประเด็นข้อพิพาท สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการจัดการความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ระหว่าง วันที่ 23-28 ก.ย. ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 5 โรงแรมท๊อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก
นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกลไกหลักในการลดความขัดแย้ง อีกทั้งยังเป็นการลดคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ในกรณีของการบริการที่ไม่พึงประสงค์ เกิดความเสมอภาค และยุติธรรม ทั้งผู้ให้บริกา และผู้รับบริการในระบบสุขภาพ อย่างที่กล่าวไปคดีที่ขึ้นสู่ศาลของกระทรวงสาธารณสุข เฉลี่ย 30 คดีต่อปี และรัฐจ่ายค่าเสียหายเฉลี่ย 200,000 บาทต่อคดี ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเข้ามารับบริการของประชาชน หากต้องการลดคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้ “นักไกล่เกลี่ย” จึงเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คดีต่าง ๆ ลดลงได้ อีกทั้งการมีศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับเขตและจังหวัด อาจช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้รับบริการในอนาคต
สำหรับนักไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องต้องทำหน้าที่นักไกล่เกลี่ยที่มีคุณภาพ สามารถช่วยแก้ไขข้อขัดแย้งในประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และขอให้ตักตวงความรู้ทางกฎหมาย และทักษะต่าง ๆ จากวิทยากรนำไป ประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม
นพ.วิทยา พลสีลา สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันปริมาณคดีที่เกิดขึ้นในศาลมีเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณคดีมากกว่ากำลังของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งเป็นเหตุให้คดีเกิดความล่าช้า อีกทั้งแต่ละคดีกว่าจะถึงที่สุดก็ใช้เวลาหลายปีอันทำให้เป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ ประชาชน วิธีการไกล่เกลี่ย เป็นหนึ่งในวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกที่คนในสังคมใช้กันมาเป็นระยะเวลานาน ในอดีตนั้นการไกล่เกลี่ยยังไม่มีรูปแบบหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นเพียงการทำหน้าที่ของพลเมืองดีหรือผู้หวังดีในการเจรจาเพื่อช่วยยุติเหตุขัดแย้งที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญ และประสิทธิภาพของการไกล่เกลี่ย จึงได้มีการนำวิธีการระงับข้อพิพาท โดยการไกล่เกลี่ยมาเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก
จากสถานการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข มีประเด็นการฟ้องร้อง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เฉลี่ย 30 คดีต่อปี ส่วนใหญ่คดีที่เกิดขึ้น เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของหน่วยบริการสุขภาพ โดยรัฐจะต้องชดเชยค่าเสียหายเฉลี่ย 200,000 บาทต่อคดี ซึ่งผลเสียต่อความไว้วางใจจากประชาชนและผู้มารับบริการ จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสังกัดให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุข
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามความ ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 และได้รับการอนุมัติให้ใช้ หลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 จากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรแห่งชาติ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ใช้ในการอบรมครั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดอบรม ได้แก่
1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีทัศนคติ บุคลิกภาพที่ดี มีทักษะในการสื่อสารที่ดีต่อผู้รับบริการ แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องจัดการกับบุคคลที่ยากกับการเจรจา สามารถจัดการอารมณ์ของตนเอง และสามารถจัดการความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวกัน
2. เพื่อลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนการพิจารณาของศาลโดยสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และประหยัด ค่าใช้จ่าย
3. เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม
ในการจัดอบรมครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการอบรมจากส่วนกลาง เขตสุขภาพที่ 1 ,2 และ 3 จำนวน 60 คน ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 200 คน โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น นักไกล่เกลี่ยของกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักมาตรฐานวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการขึ้นทะเบียน และจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยในระดับเขตและจังหวัดต่อไป
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 2 เสริมว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกลไกหลักในการลดความขัดแย้ง และเป็นหนึ่งในวิธีการระงับข้อพิพาทมีความสำคัญและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการลดคดีที่จะขึ้นสู่ศาล เกิดความเสมอภาค ต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ดังนั้น ความรู้ ความเข้าใจ ในหลักทฤษฎี แนวคิด แนวปฏิบัติ และประสบการณ์ที่ได้รับ จะช่วยให้ทำหน้าที่นักไกล่เกลี่ยที่มีคุณภาพ สามารถช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ หวังว่าจะได้ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินงานในฐานะนักไกล่เกลี่ยต่อไปในอนาคต
- 263 views