“นพ.ยง ภู่วรวรรณ” เตือนโรคอุจจาระร่วง พบมากในฤดูหนาว ตั้งแต่ ธ.ค.ถึงต้น มี.ค.จากอดีตฤดูร้อนและฝน เชื้อปรับเปลี่ยนจากแบคทีเรีย เป็นไวรัสโดยเฉพาะเชื้อโรต้าและโนโรไวรัส พบแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีโรคอุจจาระร่วง ว่า โรคอุจจาระร่วง  จะพบมากในฤดูหนาว แต่เดิมเมื่อก่อนนานมาแล้ว โรคอุจจาระร่วงในประเทศไทยจะเกิดในฤดูร้อนต่อฤดูฝน โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุหลัก จะเป็นแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ อหิวาตกโรค อีโคไล อาหารเป็นพิษ

อุจจาระร่วงจากไวรัส พบมากกว่าแบคทีเรีย

ปัจจุบัน ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สุขอนามัยที่ดีขึ้น โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียก็เลยหายไปหรือเหลือน้อยมาก ทำให้ไม่เป็นปัญหา ในทางตรงกันข้ามเชื้อที่เกิดจากไวรัส ที่ทำให้เกิดท้องเสีย จึงเห็นปัญหาเด่นชัดขึ้น

ไวรัสที่ทำให้เกิดท้องเสีย จะระบาดมากในฤดูหนาว ยิ่งอากาศเย็นเท่าไหร่ โอกาสก็จะระบาดมากขึ้นเท่านั้น จึงเกิดการระบาดได้ทุกปี ในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคมคุณไปถึงต้นมีนาคม และเชื้อที่พบบ่อย จะเป็นไวรัส 2 ตัวหลัก คือ โรต้าไวรัส และโนโรไวรัส

โรต้าไวรัส

โรต้าไวรัส ติดเชื้อได้ทุกวัย แต่ที่จะเป็นปัญหาส่วนใหญ่เป็นในเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี มีอาการเด่นชัด โดยเริ่มเป็นไข้ อาเจียน และตามมาด้วยท้องเสียถ่ายเป็นน้ำ ในเด็กเล็ก จะเป็นเหตุให้เด็กต้องนอนโรงพยาบาลได้ มีอัตราตายต่ำมาก ในปัจจุบัน เรามีวัคซีนและเริ่มให้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ให้ 2-3 ครั้ง จนครบอายุ 6 เดือน ประสิทธิภาพในการป้องกัน การนอนโรงพยาบาลหรือความรุนแรง ได้ดี เราได้ให้ในแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ โดยให้กับเด็กทุกคน มา 2-3 ปีแล้ว ดังนั้นขณะนี้โรคนี้จึงเป็นปัญหาน้อย ในเด็ก แต่อย่างไรก็ตามเชื้อนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอด และพบการระบาดได้ การติดเชื้อเกิดขึ้นได้แต่ความรุนแรงจะน้อยลง เพราะมีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน

โนโรไวรัส

โนโรไวรัส ขณะนี้เป็นปัญหามาก มีการระบาดทุกปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อาการของโรคจะเหมือนกับอาหารเป็นพิษ และเกิดเป็นกลุ่มก้อนได้โดยเฉพาะในโรงเรียน ในเด็กโตและผู้ใหญ่ ทุกวัย ในการระบาดแตระบาดแต่ละครั้ง มักจะเข้าใจผิดว่าอาหารเป็นพิษ และไปสืบสวนหาสาเหตุอาหารเป็นจากแบคทีเรีย ที่จริงแล้วเป็นไวรัส การตรวจ ถ้ามีตัวอย่างส่งมาที่ศูนย์เรา เราสามารถตรวจเช้า รู้ผลเย็น โดยการตรวจทางชีวโมเลกุล ส่วนสายพันธุ์ในแนวลึกเราจะทำการศึกษาเสมอ โรคนี้ไม่มียารักษา การรักษาด้วยการประคับประคองไม่ให้ขาดน้ำ ทั่วไป 2-3 วันก็จะดีขึ้น

ถ้ามีการระบาดเกิดขึ้นที่มีกลุ่มก้อนและมีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ ทางศูนย์ก็ยินดีที่จะตรวจให้ เพื่อให้รู้แน่ว่าเป็นเชื้อชนิดใด และจะให้ควบคุมการระบาย รวมทั้งการหาแหล่งต้นตอของการระบาด ทางศูนย์ยินดีให้คำปรึกษา โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆแต่จะขอเก็บตัวอย่างมาทำการศึกษาวิจัยต่อไปในแนวลึกถึงสายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างมากในแต่ละปี