ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายหมอ เสนอ สธ.แก้ปัญหาภาระงาน ชงออกกฎกระทรวงกำหนดชั่วโมงการทำงาน 8 ชม.ต่อวัน ลดปัญหาสมองไหล หมอแห่ลาออก  ด้าน ปลัดสธ.มอบผู้ตรวจฯ เข้าร่วมพร้อมรับฟังปัญหา ชี้ข้อเสนอต่างๆ ส่วนหนึ่งอยู่ในแผนการดำเนินการแล้ว 

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน มีการจัดเสวนารับฟังปัญหาและข้อเสนอทางออก หัวข้อ "ปัญหาแพทย์และระบบการแพทย์ไทย"  จัดโดยทีมเพื่อแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่จะลงชิงกรรมการแพทยสภา วาระพ.ศ.2568-2570 โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอผู้บริหารต่อไป 

( กลุ่มแพทย์ยื่นร้อง “แพทองธาร” เพิ่มงบบัตรทอง เหตุรพ.ขาดทุน เสนอ “ร่วมจ่าย” กู้วิกฤติสาธารณสุข )

ข้อเสนอแก้ปัญหาภาระงานแพทย์

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ หัวหน้าทีมเพื่อแพทย์ ผู้สมัครกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ในแต่ละปีมีสถิติแพทย์เสียชีวิต รวมถึงปัญหาแพทย์ลาออก สะท้อนเรื่องภาระงานที่มากเกินพอดี จึงอยากเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข จำกัดชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเสนอให้ประกาศเป็นกฎกระทรวง เพื่อลดปัญหาแพทย์ลาออก

"ปัญหาแพทย์ขาดแคลน ผมถามว่า ขาดแคลนอะไร ตอนนี้ 72,000 คน อยู่ใน กทม. 35,000 คน อยู่ต่างจังหวัดใหญ่ ๆ เยอะแยะ ที่จะผลิตแพทย์เพิ่ม สมเหตุสมผลหรือไม่ อีกทั้งการผลิตแพทย์ใช้เวลา 6 ปี ใช้เงินประมาณปีละ 2 ล้านบาท แต่ใช้ทุนแค่ 4 แสนบาท แต่ทุกคนไม่เคยเห็นปัญหาว่า น้อง ๆ ลาออกเป็นอย่างไร " นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว 

นพ.สมนึก ศิริพานทอง รองหัวหน้าทีมเพื่อแพทย์ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ ต้องเผชิญกับหลายปัญหา เรื่องค่าครองชีพหรือเรื่องของการทำงานยังไม่ฉุกเฉิน แต่ปัญหาแพทย์จบใหม่เสียชีวิตนั้นร้ายแรง จากข้อมูลแพทยสภา ในวาระ 5 ปี มีอัตราการเสียชีวิตของแพทย์ 130 คนต่อแพทย์ 100,000 คน ความเป็นวิชาชีพแพทย์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตได้มากกว่าโรคมะเร็งอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะมีแต่ประชากรไม่มีแพทย์ การสร้างตึกสร้างได้แต่จะทำงานอย่างไรถ้าไม่มีแพทย์ รัฐบาลอาจมองว่าใช้ AI เข้ามาช่วยได้ แต่ไม่สามารถทดแทนแพทย์ได้ เพียงแต่มาช่วยแพทย์แบ่งเบาภาระ

"อยากนำเสนอปัญหาแพทย์ เช่น แพทย์ภาครัฐลาออก แพทย์เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน รวมถึงปัญหาระบบการแพทย์ของประเทศ สะท้อนไปยังกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป" นพ.สมนึก กล่าว

สธ.รับฟังข้อเสนอ เข้าใจภาระงานบุคลากร

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจฯ รับมอบจาก ปลัดสธ. เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่มีแพทย์มากที่สุดในภาครัฐของประเทศไทย ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และภาระงานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล ปัจจุบันประชาชนที่เจ็บป่วยมารับการรักษา รวมถึงมาใช้บริการในการป้องกันหรือควบคุมโรคมากถึง 70% ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีภาระงานที่มากขึ้น เรื่องนี้ ปลัด สธ. ให้ความสำคัญอย่างมาก 

"การดูแลสุขภาพของแพทย์ไม่ให้ทำงานเกินพอดี คงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเรื่องจริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องรับผิดชอบ จึงต้องดูทั้งเรื่องของแพทย์และผู้ป่วยให้สมดุล ผ่านการจัดการเชิงระบบเพื่อให้ปัญหาบรรเทาลง โดยเฉพาะการลดปัญหาภาระงานที่หนักเกินไป แต่จะลดลงมาในระดับใด ต้องมีการคุยกันอีกครั้ง" นพ.โสภณ กล่าว 

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบัน สธ.มีนโยบาย One Province One Hospital  หรือ 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล  ซึ่งเป็นการทำให้โรงพยาบาลจังหวัดเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวกัน มีการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเล็กไปยังโรงพยาบาลใหญ่อย่างเป็นระบบ มีการให้คำปรึกษาและคำแนะนำ ให้บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกเป็นทีมเดียวกัน ช่วยกันดูแลเคส ที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสไปโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ พบว่า บรรยากาศของแพทย์ใช้ทุนได้รับการดูแลที่ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์มีเป้าหมายร่วมกันให้แพทย์ใช้ทุนทำงานอย่างมีความสุข ไม่ลาออกก่อน เพื่อไม่ให้ขาดแคลนแพทย์ 

ปัญหาที่รวบรวมอยู่ในแผนกำลังดำเนินการ

"การลาออกของแพทย์จบใหม่ หรือแพทย์ใช้ทุน เป็นปัญหาที่ซับซ้อน ผมคิดว่า ปัญหาที่รวบรวมมาในวันนี้ อยู่ในแผนที่กำลังดำเนินการอยู่ ก็มีจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้แพทย์ทำงานด้วยความมั่นใจ สบายใจ ลดการลาออกได้" หัวหน้าผู้ตรวจฯ กล่าว

นพ.โสภณ เพิ่มเติมด้วยว่า สธ.เข้าใจปัญหาภาระงานของบุคลากร อย่างข้อเสนอเรื่องการจำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ มีการหารือในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ภาระงานที่หนักในแต่ละวัน ซึ่งส่งผลให้แพทย์มีเวลาพักผ่อนน้อย มีโอกาสเกิดผลเสียเพิ่มความเสี่ยงของตัวแพทย์เอง รวมถึงส่งผลต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลไม่เต็มประสิทธิภาพ การกำหนดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมต้องมาดูกันในรายละเอียด ต้องหารือจนตกผลึกก่อนจะออกเป็นกฎระเบียบหรือกฎกระทรวง

“ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความพยายามเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ ทั้งค่าตอบแทนที่เหมาะสม การมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ในระยะยาวก็มีการดูเรื่องสิทธิอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินโดยตรง” หัวหน้าผู้ตรวจฯ กล่าว