สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน พร้อม 3 วิชาชีพ “พยาบาล เภสัชฯ นักเทคนิคการแพทย์” เตรียมข้อมูลพร้อมเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ. คนใหม่ ขอทางออกแก้ปัญหาภาระงานบุคลากร ทั้งกำหนดชั่วโมงการทำงาน แนวทางรักษาคนในระบบ ลดปัญหาลาออก 

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร  ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน  กล่าวถึงการเตรียมพร้อมข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่กรณีการแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ที่ผ่านมาทางสหภาพฯ เคยเข้าพบและหารือกับทางพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณสุข พบว่า มีเรื่องการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งก็ตรงกับข้อเสนอของสหภาพฯ   ดังนั้น จึงคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเห็นความสำคัญเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม หากมีการยืนยันรายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า เป็นท่านใดมาดำรงตำแหน่ง ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานจะขอเข้าหารือกับทางพรรคฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คนใหม่อย่างแน่นอน

 

4 วิชาชีพเตรียมข้อเสนอหารือทันทีมี รมว.สธ. คนใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิมเรื่องการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ลดภาระงานล้นใช่หรือไม่  พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ใช่ แต่เป็นเพียงข้อเสนอหนึ่ง เพราะที่สำคัญเราต้องการหาทางออกร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ในระบบสาธารณสุขให้มากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ทางสหภาพฯ จะเตรียมข้อมูลเพื่อขอเข้าพบกับทางพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีว่าการสธ.คนใหม่ โดยจะไปพร้อมกับวิชาชีพอื่นๆ เนื่องจากปัญหาภาระงานในระบบสาธารณสุขไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น เบื้องต้นขณะนี้มีวิชาชีพที่แสดงความประสงค์เข้าหารือร่วมกัน อาทิ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ 

“จริงๆวิชาชีพอื่นๆหากสนใจสามารถประสานเข้ามาได้ ทางเราก็มีการสอบถามอยู่ อย่างล่าสุดเคยพูดคุยกับทางสหภาพลูกจ้างฯ เกี่ยวกับปัญหาและทางออกเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการสธ.คนใหม่ เนื่องจากลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข ก็ประสบปัญหาสวัสดิการการจ้างงานเช่นกัน” ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าว

 

ยังไม่ตอบโจทย์แนวทางแก้ปัญหา

เมื่อถามถึงกรณีที่ผ่านมา ครม.รับทราบผลการหารือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์  พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ยังไม่ตอบโจทย์จริงๆ เพราะจากการติดตามข่าวพบว่า เน้นไปที่การบรรจุแพทย์ใหม่ แต่ยังไม่มีแนวทางตรงไหนที่ชัดเจนถึงการรักษาหรือการคงแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขอยู่ในระบบมากที่สุด  แต่แนวทางของกระทรวงฯและก.พ. จะเป็นเหมือนการเติมบุคลากรขาเข้ามากกว่า  แต่ยังไม่เห็นถึงแนวทางชัดเจนว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ในระบบสาธารณสุขจริงๆ  เพราะสุดท้ายการเติมคนเข้ามา อยู่ไม่ได้ก็ต้องลาออกอยู่ดี 

“ในเรื่องของกรอบอัตรากำลังนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพียงแต่อย่างเดียวไม่ได้ และเราคาดหวังว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่กระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดอัตรากำลังได้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดตามกรอบความเป็นจริง ตรงกับภาระงานจริงๆ หากเป็นไปได้การแยกตัวออกจาก ก.พ.ก็เป็นอีกวิธีที่ควรทำ” พญ.ชุตินาถ กล่าว

เสนอคณะทำงานร่วม สธ.-ก.พ.แจงที่มาแนวคิดวิธีแก้ปัญหาบุคลากร

ถามว่าก่อนจะมีรัฐมนตรีสธ.คนใหม่ ทางสหภาพฯ จะเข้าหารือร่วมกับคณะทำงานร่วมของกระทรวงสาธารณสุข และทาง ก.พ. หรือไม่ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า หากเป็นไปได้ อยากให้ทางคณะทำงานชุดนี้ออกมาเปิดเผยถึงการแก้ปัญหาต่างๆว่า เอามาจากแนวคิดไหน หรือมีผลการศึกษาใดรองรับว่า ใช้วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาบุคลากรได้จริงๆ เพื่อจะได้หารือร่วมกันว่า จริงหรือไม่ อยากให้มีการเชิญผู้แทนคนทำงานเข้าร่วมในคณะทำงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสหภาพฯ ก็ได้ เพราะหากได้หารือร่วมกันก็จะได้รู้ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน  ปัญหาคือ แม้จะมีการเติมแพทย์เข้าระบบ แต่เมื่อจบมาก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องลาออก ซึ่งจริงๆไม่ใช่ทุกคนอยากลาออก แต่จำใจต้องไป เพราะภาระงาน ทั้งๆที่เรื่องนี้จัดการได้ทันทีด้วยการประกาศ ลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ สามารถประกาศได้เลย

 

หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล ปัญหาหมอไม่พอยังเหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย  “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) ในการหมุนเวียน หรือกระจายแพทย์ในจังหวัดเพื่อช่วยเหลือรพ.ที่แพทย์ไม่พอ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพราะถ้าทั้งจังหวัดขาดแพทย์อยู่แล้ว อย่างขาดเป็นหลักสิบ ต่อให้หมุนหลักหน่วยไปตามรพ.ต่างๆ สุดท้ายย้ายไป รพ.หนึ่ง แต่อีกรพ.ก็จะขาดแคลนอยู่ดี ปัญหาในบางแห่ง มีชื่อแพทย์ช่วยราชการ แต่หาคนมาไม่ได้ก็มี 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ชมรมสาธารณสุขฯ เสนอ “รมว.สธ.” คนใหม่ วางระบบสุขภาพปฐมภูมิ ลดรอยต่อหลังถ่ายโอนท้องถิ่น