สธ.เผยแผนเพิ่ม “นักกายภาพบำบัด” จาก 1.4 หมื่นคน เป็น 2 หมื่นคน  เหตุภารกิจเยอะโดยเฉพาะสานต่องานลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง “สมศักดิ์” ดึงนักกายภาพฯ ร่วมลดโรคเอ็นซีดี เพราะมีส่วนฟื้นฟูร่างกาย ช่วยคนไทยอายุยืน เตรียมหารือบอร์ดสปสช.ขยายเวลาบำบัดฟื้นฟูร่างกายคนไข้จาก 6 เดือนเป็น 1 ปี

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้ถอดการกล่าวปาฐกถาช่วงหนึ่งเรื่อง วิชาชีพกายภาพบำบัดกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 2567 ในโอกาสครบรอบ 20 ปี สภากายภาพบำบัด  ที่พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน  เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ว่า นักกายภาพบำบัด มีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในทุกมิติของการดูแลสุขภาพ ทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแลระยะยาวและต่อเนื่อง

สธ.ตั้งเป้าเพิ่ม นักกายภาพบำบัดอีก 2 หมื่นคน  

“ปัจจุบันนักกายภาพบำบัดที่มีใบประกอบวิชาชีพ มีประมาณ 14,000-15,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงทำยุทธศาสตร์ปฏิรูปกำลังคนในระยะ 10 ปี มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักกายภาพบำบัดอีกประมาณ 2 หมื่นคน เพื่อให้มีสัดส่วนนักกายภาพบำบัดต่อประชากรเพิ่มขึ้น ประชาชนจะได้รับการดูแลทั่วถึงมากขึ้น และภาระงานของนักกายภาพบำบัดจะได้เบาบางลง ไม่หนักเกินในแต่ละวัน” นายสมศักดิ์ กล่าว

ดึง นักกายภาพบำบัด ร่วมส่งเสริมลดปัญหา NCDs

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะให้ความสำคัญกับการสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ การพัฒนาทักษะ และการส่งเสริมการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมทางกายภาพบำบัด ที่จะยกระดับมาตรฐานการบริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยอีกด้วย  ดังนั้น ขอเชิญชวนนักกายภาพบำบัด เข้ามาร่วมมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทย และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โรคเอ็นซีดี คือเป้าหมายสำคัญของสธ. ในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังถึงปีละ 4 แสนคน ในจำนวนนี้ไม่สามารถหยุดได้ เพราะสะสมมาก่อนแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่เป็นโรค แต่มีแนวโน้มจะเป็น ตรงนี้สำคัญหากเราให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ก็จะลดป่วยลดเสียชีวิต ซึ่งจะเกี่ยวพันกับนักกายภาพบำบัด เพราะจะมีส่วนทำให้คนมีอายุยืนขึ้น เพราะแนวทางสาธารณสุขไทยจะทำให้คนไทยอายุยืนขึ้น  ซึ่งปัจจุบันมีนักกายภาพอยู่กว่า 1.4 หมื่นคน และแผนสธ.ต้องการเพิ่มอีก 2 หมื่นคนใน 10 ปี ซึ่งตนมองว่าไม่น่าเพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยเอ็นซีดีเสียชีวิตเยอะขึ้น และหากไม่เสียชีวิตส่วนหนึ่งก็มาจากนักกายภาพบำบัดจะมาช่วยได้

คาดสอนนับคาร์บ อสม. ครบทั่วประเทศเดือนนี้

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาคนป่วยจากโรคเอ็นซีดีเพิ่มปีละ 2 ล้านคน และมีคนป่วยในระบบการรักษาเพราะ NCDs จำนวนกว่า 33 ล้านคน ซึ่ง 1 คนอาจมีหลายโรค อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่รักษาโรคนี้ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพฯ พบเป็นโรคเอ็นซีดี 40% ดังนั้น หากลดโรคนี้ได้ นอกจากลดค่าใช้จ่ายระบบสุขภาพ ที่สำคัญช่วยคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนโยบายให้ อสม.ช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจประชาชนด้วยการนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรต  ยึดหลักว่า “โปรตีนอย่าให้ขาด คาร์บอย่าให้เกิน เพิ่มเติมด้วยไขมันดี”  โดยขณะนี้ตนสื่อสารไปประมาณ 38 จังหวัด คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะครบทั่วประเทศ

หนุน “ฟิตเนส-นักกายภาพบำบัด” ช่วยคนไทยแข็งแรง

รมว.สาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะกินให้ได้สุขภาพดี อย่างลดคาร์บ อย่ากินเยอะ ส่วนเรื่องไขมันมากจะทำอย่างไร นอกจากการกินแล้ว ก็จะมาที่นักกายภาพบำบัด หรือนักฟิตเนส ซึ่งปัจจุบันมีฟิตเนสที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) 1,045 แห่ง มีคนเข้าไปใช้บริการอย่างกรมอนามัย ไม่น่าเกินวันละ 200 คน หากทุกฟิตเนสที่ขึ้นทะเบียนมีคนเข้าประมาณ 200 คน รวมแล้วแค่ 2 แสนคนต่อคน ซึ่งน้อยเกินไป ยิ่งถ้ามาทำเรื่องเอ็นซีดี ก็ต้องดูแลร่างกาย รักษาน้ำหนัก

เข้าฟิตเนส หนึ่งในแนวทางช่วยคนไทยอายุยืน

“ตรงนี้จึงสำคัญ อย่างน้องสาวผมเข้าฟิตเนส แค่ 2-3 เดือนร่างกายแข็งแรง นี่คือสำคัญ และที่กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ยังขาดนักกายภาพบำบัด 2 หมื่นคน ผมว่าไม่ใช่ เราขาดมากกว่านั้น ฟิตเนสจะจำเป็นยิ่งขึ้นวันนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทำงานร่วมกับท้องถิ่น และตั้งงบประมาณไว้ใช้เรื่องการออกกำลังกายหัวละ 45 บาท หากมี 50 ล้านคนก็จะประมาณ 2 พันกว่าล้าน ซึ่งวันนี้ยังใช้ไม่ถึง 75% ในแต่ละปี จึงเป็นหน้าที่นำงบมาใช้เพื่อประโยชน์เพื่อประชาชน นักกายภาพบำบัดจึงมีหน้าที่ในการยืดอายุคนไทย อย่างผมก็คิดว่าจะอายุเป็น 100 ปี และท่านทั้งหลายก็อายุยืนได้เช่นกัน” นายสมศักดิ์กล่าว

จ่อถกบอร์ดสปสช. ขยายเวลาบำบัดฟื้นฟูจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  บทบาทสำคัญเรื่องสุขภาพคนไทย ก็จะเกี่ยวข้องกับนักกายภาพบำบัดด้วย และธุรกิจด้านนี้ หากจะลงทุนอะไรถือว่าเหมาะสม และจากการหารือกับนายกสภากายภาพบำบัด ได้ฝากประเด็นว่า กลุ่มโรคที่สปสช.สนับสนุน อย่างหลอดเลือดสมอง ไขสันหลังบาดเจ็บ กระดูกสะโพกหัก เวลาไปบำบัดรักษาให้แค่ 6 เดือน ซึ่งจริงๆควรเป็น 1 ปี ซึ่งตนรับทราบและจะนำเรื่องนี้เสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ต่อไป