ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่ทัน! 1 ต.ค. 67 ขึ้นค่าแรง 400 บาท ด้าน รมว.แรงงาน ชี้ความจำเป็น เลื่อนประชุมบอร์ดค่าจ้างไม่มีกำหนด เหตุกรรมการไม่ครบสัดส่วนตามกฎหมาย  เข้าใจความลำบากของผู้ใช้แรงงาน แต่รัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  

 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 67 ว่า ล่าสุด นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ให้รับทราบแล้วว่านายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการ ไม่ได้เป็นตัวแทนแล้ว จึงต้องรอให้แบงก์ชาติส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร และส่งผู้แทนคนใหม่เข้ามา เพื่อแต่งตั้งใหม่ ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมบอร์ดค่าจ้างได้ เพราะสัดส่วนคณะกรรมการค่าจ้างมีไม่ครบ 15 คน ตามกฎหมาย

“จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.67) ออกไปโดยไม่มีกำหนด และต้องขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ แต่ยืนยัน จะเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้รัฐบาล น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ประกาศเป็นนโยบาย เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของผู้ใช้แรงงาน แต่รัฐบาลจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หาค่าจ้างในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไปได้” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เป็นเวลา 12 ปีแล้ว หลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ค่าจ้างก็ยังขึ้นไม่ถึง 100 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 8 บาท กระทรวงแรงงานไม่อยากกดค่าจ้างให้ต่ำ ทุกคนมีครอบครัว จำเป็นต้องใช้จ่าย แต่ต้องดูฝั่งนายจ้างว่า ไหวหรือไม่ในการจ่ายค่าแรงตามที่ผู้ใช้แรงงานต้องการ สิ่งเหล่านี้สำคัญกระทรวงแรงงานก็ลำบากใจ อยู่ตรงกลาง อยากให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้า แต่มั่นใจว่า หากหันหน้ามาคุยกัน สุดท้ายก็จะเดินไปดได้ด้วยกัน   

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง จะประกอบด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน ซึ่งภาครัฐประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน 2 คน และหน่วยงานภายนอก อีก 3 คน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์  สภาพัฒน์ฯ และแบงก์ชาติ โดยต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 จึงจะสามารถลงมติได้ ส่วนกรณีที่จะเปิดประชุม หากมีคณะกรรมการค่าจ้างเพียง 14 คน  ซึ่งไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะสัดส่วนคณะกรรมการมีไม่ครบ 15 คน