สภาเภสัชกรรมออกจม.เปิดผนึก ฉบับที่ 3 ชี้แจง 4 ประเด็นจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ย้ำโครงการฯ ผ่านกระบวนพิจารณาหลายขั้นตอน มีแนวปฏิบัติรอบคอบเพื่อให้ ปชช. ปลอดภัย ซักประวัติจ่ายยาดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเป็นมาตรฐานที่เภสัชกรบริบาลต่อผู้ป่วยมากว่า 70 ปีแล้ว
จากกรณีศาลปกครองรับฟ้องคำร้องของแพทยสภา กรณีการจ่ายยาตาม 16 กลุ่มโรคอาการ โดยสภาเภสัชกรรม ออกจดหมายเปิดผนึกไปแล้ว 2 ฉบับ ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน สภาเภสัชกรรม ออกจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 3 กรณีการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวเนื่องกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ระบุว่า
สืบเนื่องจากแถลงการณ์แพทยสภา เรื่อง ความเข้าใจในกรณีการฟ้องศาลปกครอง เกี่ยวเนื่องกับ โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทําให้สมาชิกเภสัชกรกังวลใจเป็นอย่างยิ่งในข้อมูลและทัศนคติดังกล่าว และอาจส่งผลต่อการทํางานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ ในการร่วมดูแลประชาชนด้านยาและสุขภาพ
สภาเภสัชกรรม ขอเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. กระบวนการพิจารณาโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยร้านยาคุณภาพ ได้ผ่านกระบวนพิจารณาและกลั่นกรองหลายขั้นตอน โดยคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งคณะอนุกรรมการกําหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกองทุน คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และในที่สุดเสนอ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนแพทย์ เภสัชกร และวิชาชีพ อื่นๆ ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น ๆ จึงมีมติเห็นชอบให้ดําเนินการในโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา ดังกล่าวนี้ โดยมีรายละเอียดแนวปฏิบัติที่รอบคอบ เพื่อให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้รับบริการ โดยให้บริการตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2565 จนถึง 21 พฤศจิกายน 2567 มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 1,791,930 คน จํานวนครั้ง 4,985,145 ครั้ง ร้อยละ 90 อาการหายหรือทุเลา ไม่พบกรณีที่ผู้เข้ารับบริการที่เกิดปัญหารุนแรง หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ที่ได้รับการคัดกรองเบื้องต้นจากเภสัชกร มีบางส่วนได้รับการส่งต่อแพทย์ทันที ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพเบื้องต้น แนะนําการใช้ยาและ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และจากผลการสํารวจพบว่า ประชาชนที่เข้ารับบริการในโครงการนี้มีความพึง พอใจในระดับมากที่สุด
2. กระบวนการซักประวัติเพื่อจ่ายยาในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นมาตรฐานที่เภสัชกร ให้การบริบาลต่อผู้ป่วยมาเป็นเวลานานมากกว่า 70 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2479) และเป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม ตามพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งเดิมประชาชนเป็นผู้จ่ายค่ายาเอง สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นประโยชน์ของการบริบาล ทางเภสัชกรรมดังกล่าว จึงได้บรรจุเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนโดยใช้งบประมาณของ สปสช. ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้มาจากภาษีของประชาชน ในขณะที่ กรรมการแพทยสภาบางท่านได้มีการเผยแพร่ ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า “การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชกรรมโดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัชกร จ่ายยา ตามบริบทเดิม แม้แต่น้อย” ซึ่งอาจตีความได้ว่า หากเป็นกรณีผู้ป่วยจ่ายเงินเอง แพทยสภาไม่ขัดข้อง แต่หาก สปสช. จ่ายค่าบริการแทนประชาชน ดังเช่นในโครงการฯนี้ แพทยสภากลับฟ้องร้องว่าไม่ปลอดภัย จึงทําให้ มีข้อสังเกตว่า การฟ้องร้องดังกล่าว เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชน มากน้อยเพียงไร
3. สภาเภสัชกรรม ขอขอบพระคุณเพื่อนแพทย์ ที่ได้ให้กําลังใจเภสัชกรในฐานะ “ทีมสุขภาพ” ด้วยความเป็นมิตรและให้เกียรติซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่มี ความเหลื่อมล้ำ ยังมีประชาชนจํานวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ โดยเฉพาะในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งเป็น ความทุกข์ และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส แต่เป็นการยากมากที่จะเข้าถึงแพทย์ และมีค่าใช้จ่าย สูงในการเดินทางเข้ารับบริการนี้ที่โรงพยาบาล พยาบาล ในขณะที่ต้องหาเช้ากินค่ํา
อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเหล่านี้ ไม่จําเป็นต้องผ่านการตรวจร่างกายหรือส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่สามารถที่จะซักถามเพื่อประเมินอันตรายโดยเภสัชกรซึ่งเป็นผู้ที่ร่ำเรียนด้านยาในด้านต่าง ๆ จากหลักสูตร การศึกษา 6 ปี ในคณะเภสัชศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาเภสัชกรรม และยังผ่าน การอบรมในโครงการร้านยาคุณภาพอีกด้วย หากมีความเสี่ยงอันตรายที่จะเป็นโรคร้ายแรง เภสัชกรจะรีบส่งต่อไปให้แพทย์ดูแลโดยด่วนตามมาตรฐานวิธีปฏิบัติงานที่กําหนด โดยหากมั่นใจว่าเป็นเพียงอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เภสัชกร จะเลือกสรรยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการและดูแลอาการเจ็บป่วย อย่างเหมาะสม รวมทั้งทําการติดตามผลการใช้ยา เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนที่ได้รับบริการตามโครงการฯนี้ สามารถกลับไปประกอบอาชีพ หาเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการกลั่นกรองผู้ป่วย เพื่อลดภาระงานบริการ เพื่อให้แพทย์สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยในโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย
4. สภาเภสัชกรรมเห็นด้วยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนควรคํานึงถึงความปลอดภัยของประชาชน เป็นสําคัญ และขอให้แพทยสภาพิจารณาถึงประเด็นความปลอดภัยในการใช้ยาให้ครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลินิก ซึ่งส่วนใหญ่ยังพบว่า ฉลากยาไม่ระบุชื่อ ยาและรายละเอียดเกี่ยวกับยาที่จ่าย ทําให้ไม่สามารถตรวจสอบและตรวจสอบย้อนกลับได้หากมีปัญหาการใช้ยา และไม่เป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา พ.ศ. 2565 เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งผู้ส่งมอบยาอาจเป็นผู้ที่มิได้มีความรู้เรื่องยา จึงขอให้ทางแพทยสภา พิจารณาการให้บริการในลักษณะดังกล่าวของคลินิกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของ ประชาชนด้านยาและสุขภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสูงสุด
สภาเภสัชกรรม ขอขอบคุณ เภสัชกร ที่ร่วมการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรร รวมทั้ง หลายท่านยังเสนอ แนวทางในการเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาของประชาชน และขอขอบคุณเพื่อนแพทย์หลายท่าน ที่แสดงความปรารถนาดีต่อประชาชนอย่างจริงใจ ด้วยการอาสาที่จะช่วย เพิ่มพูนทักษะ ให้เภสัชกร ให้มีสมรรถนะ ในการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็วขึ้นตลอดจนการร่วมพัฒนาแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย ร่วมกันที่ชัดเจนระหว่างแพทย์และเภสัชกร
สภาเภสัชกรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แพทยสภา จะเปิดใจ “หยุดและทบทวน” ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยน ความคิด รับฟังความเห็นและความรู้สึกของประชาชน ร่วมกันสร้างความสามัคคีและการทํางานร่วมกันของภาคี สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างยั่งยืน
สุดท้ายนี้ สภาเภสัชกรรม พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับแพทยสภาในการหาทางออกที่เหมาะสม บนพื้นฐาน ของความเข้าใจร่วมกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตามจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการทํางานร่วมกันของวิชาชีพ โดยอยู่บนพื้นฐานที่สําคัญที่สุด คือ ประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม :
- "สมศักดิ์" ถกแพทยสภา เสนอตั้ง คกก.ร่วม พิจารณากำหนดกลุ่มอาการ ที่เภสัชกรจ่ายยาได้โดยไม่เป็นอันตราย
- แพทยสภา ออกแถลงการณ์ ปมฟ้องศาลปกครองโครงการจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย)
- สภาเภสัชกรรมออกจม.เปิดผนึก ฉบับที่1
- สภาเภสัชกรรมออกจม.เปิดผนึก ฉบับที่2
- 163 views