“สมศักดิ์” ตรวจเยี่ยม สบยช. ให้กำลังใจผู้ป่วยติดยา ชู “To Be Number One“ ดึงวันรุ่นห่างไกลยาเสพติด เผยสบยช.และรพ.ธัญญารักษ์ 6 แห่ง ดูแลผู้ป่วยกว่า 1.3 หมื่นคน กลุ่มเมทแอมเฟตามีนสูงสุด พร้อมยกระดับบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้านแบบ Home Ward เร่งขยายทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จ.ปทุมธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม สบยช. เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด
โดยนายสมศักดิ์ ได้ตรวจเยี่ยมจุดแรก ที่ หอผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ : ทองเนื้อเก้า พร้อมกล่าวกับผู้ป่วยว่า ขอให้กำลังใจในการดูแลตัวเองหายดี กลับคืนสู่ภาวะปกติ สามารถประกอบอาชีพร่วมกับคนในสังคมได้ จากนั้นนายสมศักดิ์ ยังตรวจเยี่ยมหน่วยงาน และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้านแบบ Home Ward อีกทั้งได้พูดคุยกับผู้ป่วยในระบบดังกล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
สบยช.-รพ.ธัญญารักษ์ 6 แห่งดูแลผู้ป่วยกว่า 1.3 หมื่นคน
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลยาเสพติดระบบสมัครใจ 1,081 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดระบบสมัครใจ 212 แห่ง และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดสังกัดกระทรวงยุติธรรม 146 แห่ง ส่วนผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดทั้งประเทศในปีงบประมาณ 2567 มี 213,024 คน จำนวนนี้อยู่ในการดูแลของ สบยช.และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ 6 แห่งในภูมิภาค 13,033 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ กระท่อม และโคเคน ถึง 62% ตามด้วยกลุ่ม Opiates (เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น) 20.8% และกัญชา 9.7%
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ในการยกระดับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด สบยช.มีการพัฒนาระบบบริการที่ครอบคลุม ตั้งแต่การประเมินคัดกรอง การบำบัดด้วยยาแบบผู้ป่วยนอก 1-4 สัปดาห์ ฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยนอก Matrix Program 2-4 เดือน การบำบัดด้วยยาแบบผู้ป่วยใน 1-4 สัปดาห์ พร้อมดูแลรักษาโรคแทรกซ้อนทางกายและจิต ซึ่งโรคร่วมทางกายที่พบมากสุด คือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ส่วนโรคร่วมทางจิตเวชที่พบมากสุดคือ โรคจิตเภท
แนวทางดูแลผู้ป่วยใน และพัฒนาคู่มือดูแลที่บ้าน
สำหรับขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยใน จะมี Fast Model: TC (Therapeutics Community) หรือชุมชนบำบัด และขั้นตอนติดตามหลังการรักษาและดูแลต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ นอกจากนี้ ยังพัฒนาคู่มือการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้าน (Home Ward) ซึ่งเสมือนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล แต่ใช้การดูแลในรูปแบบ Case Management ในการประเมิน วางแผน จัดการให้คำปรึกษา ทำกิจกรรมบำบัดและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องตามระยะการรักษา ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน DMS Home Ward และแอปพลิเคชัน Line Official Account เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างทีมสหวิชาชีพและผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ Home Ward ผู้ป่วยยาเสพติดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว
บริการแบบ Home Ward 432 คน
“ตั้งแต่เปิดบริการ Home Ward ผู้ป่วยยาเสพติด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการสะสม 432 คน คงการพยาบาล 96 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยยาบ้า/ยาไอซ์ และกัญชา จากการประเมินผลในปี 2567 พบผู้ป่วยพึงพอใจ 94.05% ครอบครัวพึงพอใจ 91% และคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับดี 70.14% ทั้งนี้ สบยช.ได้ขยายรูปแบบบริการไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดทั่วประเทศ โดยพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่บ้าน 3 รุ่น ร่วม 490 คน พร้อมขึ้นทะเบียน Home Ward ผู้ป่วยยาเสพติด ยาเสพติด 184 แห่ง ประกอบด้วย สบยช. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ 6 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 177 แห่ง” นายสมศักดิ์กล่าว
นโยบายด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด 4 ประเด็น
นอกจากนี้ รมว.สาธารณสุข ยังกล่าวถึง รัฐบาลมีนโยบายด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด 4 ประเด็น โดยประเด็นแรก ต้องเพิ่มการเข้าถึงบริการยาเสพติด จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสพเกือบ 2 ล้านคน มีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 450,000 คน มีผู้ป่วยยาเสพติดสะสมในปี 2556-2567 ประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน แต่มีผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 40 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันเพิ่มการเข้าถึงบริการดังกล่าว
ประเด็นที่สอง การคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม คือ การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชทางการแพทย์ และการฟื้นฟูทางสังคม ซึ่งหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีเตียงจิตเวชยาเสพติด ประมาณ 10,705 เตียง อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 8,065 เตียง มินิธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลชุมชน 2,640 เตียง ซึ่งเราต้องผลักดันให้มีเตียงจิตเวชยาเสพติดให้เพียงพอ เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ
ประเด็นต่อมา การป้องกันไม่ให้กลับสู่วงจรยาเสพติดอีก ผ่านแนวคิด “ชุมชนล้อมรักษ์” หรือการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อป้องกันการกลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก ซึ่งมีความคืบหน้าพอสมควร โดยปัจจุบันมี 2,349 ชุมชน โดยพบว่าผู้ป่วยยาเสพติดรักษาต่อเนื่อง ร้อยละ 60 และผู้ป่วยยาเสพติดหยุดเสพต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี ร้อยละ 26.85
ประเด็นสุดท้าย การให้ความรู้และสร้างความตระหนัก เพื่อส่งเสริมป้องกันการเข้าสู่วงจรยาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งโครงการ To BE Number One เป็นส่วนสำคัญมาก ทำให้ปัจจุบันความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต และยาเสพติดของคนไทย อยู่ในระดับดีถึงดีมาก ร้อยละ 46.35
- 5 views