ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตำรวจ-ผู้นำชุมชน-อสม. เดินหน้าเคลื่อน "ชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล" สำคัญคือชุมชนต้องให้โอกาส ชี้! "สังคมไม่ให้โอกาสผู้ป่วยยาเสพติด คือ สังคมที่ป่วย...." 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว Hfocus ร่วมลงพื้นที่กับทีมสื่อสารของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการศึกษาดูงาน "โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล" ณ สถานีตำรวจภูธรบ่อวิน เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต : Mental Influence Teamเขตสุขภาพที่ 5 และเขตสุขภาพที่ 6 

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้  ทำให้ทราบว่า แม้รัฐบาลจะมีการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด แต่ในพื้นที่ชุมชนหรือตามจังหวัดต่างๆยังมีผู้ติดยาเสพติดจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ปัจจุบันเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอันตรายและหวาดกลัวในการใช้ชีวิต...

พ.ต.ท. สุพรรณ ใจหาญ สารวัตรปราบปรามยาเสพติด สถานีตำรวจภูธรบ่อวิน หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ทำให้กลับไปติดยาเสพติดอีกครั้งนั้น เกิดจากเมื่อผู้บำบัดยาเสพติดไปรักษากลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ คนในครอบครัวเริ่มต่อว่า จากลูกรักกลายเป็นลูกซัง ทำให้อับอายเพื่อนบ้าน ทำให้เสียชื่อเสียงแม่เริ่มรับลูกไม่ได้นั้น ต่อมาจึงต้องมีการเข้าไปปรับความคิดของคนในครอบครัวว่าลูกของท่านป่วย แต่เมื่อไปสัมผัสชุมชนจริงๆ คนในครอบครัวก็ป่วยด้วยเพราะความทุกข์ที่สาหัสที่สุดคือลูกติดยา ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ปรับแนวคิดช่วยกัน โดยเราเป็นคนกลางและช่วยปรับความคิดว่าถ้าลูกป่วยแล้วไม่ต้องไปซ้ำเติม ต้องให้ความรักความอบอุ่นต่อลูก เพราะยาสำคัญที่สุดคือยาใจ มองว่าครอบครัวจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการช่วยบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด  

สาเหตุการติดยาเสพติดมีหลายปัจจัย..

สาเหตุการติดยาเสพติดมีหลายปัจจัย บางคนมาจากการผิดหวังในชีวิต บางคนมาจากความไม่พร้อมของครอบครัว ครอบครัวแตกแยก บางคนครอบครัวอบอุ่นมีเงินแต่คบเพื่อนเพื่อนพาไปในทางที่ผิด  ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุ  ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้ป่วยควรปรับความคิดผู้ป่วยให้รู้ความสำคัญของตนเอง ซึ่งเรามีคำถามที่ถามผู้ติดยาเสมอว่า "เกิดมาทำไม ใครสำคัญที่สุดสำหรับเรา เพราะไม่เช่นนั้นเขาอาจจะโทษแต่คนอื่น" รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดครอบครัว ปรับเปลี่ยนแนวคิดชุมชน ทำให้เห็นว่าชุมชนไม่ได้ประณามหรือไม่ได้ต่อว่า ทำให้เขาได้รู้สึกได้รับการยอมรับมากขึ้นทำให้รู้สึกตนเองมีคุณค่ามากขึ้น ฉะนั้นภาคประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่งทำให้ผู้ติดยาเสพติดอาจเกิดปรับความคิดไม่กลับไปยุ่งกับยาเสพติดอีก เพราะได้การยอมรับแล้ว ชุมชนให้โอกาสแล้ว     

ขณะที่ นายนิวัฒน์ อุมัด ประธานชุมชนชมรมมุสลิมเขาขยาย เผยว่า ถ้าถามว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้เลิกยาเสพติดต่อได้...  บอกไม่ได้ว่าจะสามารถทำให้เลิกได้ 100% หรือไม่ แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ติดยาเสพติดมีภูมิคุ้มกัน ตนมองถึงเรื่องหลักความเข้าใจโดยการเข้าถึงตัวผู้ติดยาเสพติดและเราต้องเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร เพราะคนติดยาเสพติดจะมองว่าตนเองเป็นคนที่ถูกต้องเสมอ จะเป็นคนน้ำเต็มแก้ว จะมีเหตุผลเยอะ มีความคิดที่ดี บางครั้งความคิดเราอาจสู้เขาไม่ได้  ทำอย่างไรให้น้ำที่อยู่ในแก้วล้นออกไปบ้าง ซึ่งในสมองมีแต่ความคิดเรื่องยาเสพติดหรือไปทางอบายมุขมากกว่า เราจะทำยังไงให้เขาทราบว่าสิ่งที่เขาเข้าใจเป็นสิ่งที่ผิด  

"สังคมไม่ให้โอกาสผู้ป่วยยาเสพติด คือ สังคมที่ป่วย.."

ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้เลิก... ต้องถามว่าหวังผลแค่ไหน เพราะมองว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่กับเราได้มากที่สุด ให้เขาสัมผัสชีวิตกับเรา  โดยเราจะใช้วิธีในการใช้ความรู้สึก เข้าไปกินนอนกับผู้ติดยาเสพติด และได้ตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องใช้ยาเสพติดและนั่งฟังเหตุผลโดยไม่ควรพูดแทรกในขณะที่เขากำลังแสดงความคิดเห็น และถามถึงความต้องการของเค้าด้วยว่าต้องการอะไร..

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญเรายังต้องให้โอกาสเขาพาไปรู้จักคนที่ให้งานเขาได้ ต้องสร้างภาคีเครือข่ายหรือสร้างสังคมโดยรวมและมองว่าสังคมเราเป็นอย่างไร ปัญหาคือ "ยาเสพติดอย่าโทษผู้ป่วย ผมเป็นคนไม่โทษผู้ป่วย ถามว่าทำไมไม่โทษ? เพราะสังคมก็ป่วย สังคมที่ไม่ให้โอกาสคือสังคมที่ป่วยมาก" ปัจจัยหลักถ้าสังคมป่วยไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ เราจะทำอย่างไรให้รักษาผู้ป่วยได้ คือ ต้องสร้างสังคมให้หายป่วยก่อน เพราะยาที่ดีคือยาความ เข้าใจความรู้สึก

ยาที่ดีคือยาความเข้าใจความรู้สึก..

ในเรื่องยาเสพติด ตนมองถึงเรื่องอายุ อย่างถ้าอายุ 10-17 ปี เป็นช่วงที่มีความรัก จะเน้นพูดถึงเรื่องความรัก แต่ถ้าอายุช่วงวัยทำงานก็จะพูดถึงเรื่องการทำมาหากิน โอกาสการทำมาหากิน  แต่ถ้าหากที่ทำงานไม่รับทำงานเพราะคนนั้นคนนี้ว่านั่นแหละคือสังคมป่วย แล้วถ้ามองว่า หมอเป็นคนรักษาแล้วไปโทษผู้ป่วย เราต้องมองว่าเราป่วยไหม.. ถ้าเราไม่ป่วยคำว่าไม่ป่วยของเราคืออะไร... ฉะนั้นสังคมที่ไม่ป่วยคือสังคมที่ให้โอกาส