กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพื่อรองรับการบำบัดรักษากลุ่มสีแดงในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 "หมอกิตติศักดิ์" เผยมีความก้าวหน้าเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ตรวจเยี่ยมพร้อมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานการเพิ่มสถานที่ในการดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชและผู้ใช้สารเสพติด การพัฒนานวัตกรรมการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดโดยการใช้คู่มือทักษะทางสังคมสำหรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ อีกทั้งสภาพสังคมในปัจจุบันพบว่า เขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ และตาก มีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดร่วม และมีภาวะฉุกเฉินด้านการแสดงอารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น (ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง) ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาให้ทันต่อเวลา ในสถานที่ที่มีความปลอดภัย มีการเฝ้าระวังความเสี่ยงเป็นพิเศษเพื่อให้ได้รับการบำบัดรักษา ดูแลอาการทางจิตให้สงบในโรงพยาบาลเฉพาะทางดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก ในฐานะโรงพยาบาลพี่เลี้ยงเครือข่ายระบบให้บริการสุขภาพจิตและจิตเวชยาเสพติดในเขตสุขภาพที่ 2 โดยได้รับการสนับสนุน
จากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 2 โรงพยาบาลวังทอง ในการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในระยะฉุกเฉินในเขตสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงในพื้นที่รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบบริการแบบไร้รอยต่อในเขตสุขภาพที่ 2 โดยมีการเน้นถึงความร่วมมือเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติดให้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วยการป้องกัน การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับชุมชนนั้น
กรมสุขภาพจิตได้ขยายสถานที่ดูแลและบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 60 เตียง เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการรักษาที่ยังขาดแคลน โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนได้รับการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงการปรับปรุงสถานพยาบาลที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยและมีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยพัฒนากำลังคนและเครื่องมือที่จะนำไปใช้ดำเนินงานควบคู่กัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโปรแกรมการบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างแท้จริง
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามและตรวจเยี่ยมพื้นที่โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก ในครั้งนี้พบว่ามีความก้าวหน้าเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ ได้แก่ การเพิ่มสถานที่ในการดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในกลุ่มสีแดงเขตสุขภาพที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชและผู้ใช้สารเสพติด โดยดำเนินการร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพระพุทธชินราช คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งร่างหลักสูตรให้สภาการพยาบาลพิจารณา และการพัฒนานวัตกรรมการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดโดยการใช้คู่มือทักษะทางสังคมสำหรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด กรมสุขภาพจิตเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ที่เคยติดยาเสพติดสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมให้สังคมปลอดภัยและห่างไกลจากยาเสพติดต่อไป
- 3 views