ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ชี้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต กำหนดให้บุคคลที่เสี่ยงป่วยจิตเวชเข้ารับการบำบัด แนะสังเกต 5 สัญญาณเตือนปัญหาจิตเวช! หากพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมบอกวิธีหลีกหนีเพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง

จากกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ขาดการรักษา ก่อเหตุความรุนแรงต่อบุคคลอื่นในจังหวัดมหาสารคามนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ได้รับการประสานข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบที่เกิดเหตุ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลด้านจิตเวชที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำการติดตามและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแล้ว และได้มีการมอบหมายให้ 

1.ให้การรักษาตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด 

2.วางแผนให้ผู้ป่วยเข้าโปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดสุราหลังอาการทางจิตสงบ 

3.สร้างความรอบรู้แก่ญาติและผู้ดูแลเกี่ยวกับการดูแลให้ผู้ป่วยรับการรักษาต่อเนื่อง งดใช้สารเสพติด เฝ้าระวังสัญญาณเตือนความผิดปกติทางจิต และการดูแล ส่งต่อ 

4.ติดตามดูแลต่อเนื่องตามแนวทางการดูแลผู้ป่วย SMI-V 

ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งประชาชนหลายฝ่ายอาจจะมีความกังวลและตระหนกจากการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าว กรมสุขภาพจิตขอย้ำว่า หากพบผู้ที่มี 5 สัญญาณเตือนอันตราย คือ นอนไม่หลับ เดินไปมา พูดคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และหวาดระแวง ที่บ่งบอกถึงความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษา สามารถใช้แนวทาง 4 วิธีเพื่อหลีกหนีและป้องกันการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้โดย 

1.มองหาพื้นที่ที่ปลอดภัย หลีกหนีจากบริเวณที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น ที่ลับตาคน หรือที่เป็นจุดอับ 

2.ตั้งสติและให้เวลากับตนเองเพื่อเข้าใจสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจ และปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผล 

3.ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือบุคคลใกล้ชิดโดยไม่เขินอาย และไม่ปล่อยให้ล่วงเลยไปยาวนาน 

4.ดูแลจิตใจตัวเองด้วยการนึกถึงหรือทำกิจกรรมที่ดีหรือที่มีความรู้สึกปลอดภัย 

"อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองเป็นที่ตั้งโดยไม่ตระหนก ศึกษาหาข้อมูล และดูแลสภาพแวดล้อมของตนเองให้เหมาะสมเสมอ เพื่อความปลอดภัยจากความเสี่ยงที่จะตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง" นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวและว่า

ตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตกรณีใดกรณีหนึ่ง เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ได้แก่ 1.มีภาวะอันตราย และ 2.มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยมาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ 

หากประชาชนพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ มีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ต้องการรักษาและอาการไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองเป็นที่ตั้งโดยไม่ตระหนก ศึกษาหาข้อมูล และดูแลสภาพแวดล้อมของตนเองให้เหมาะสมเสมอ เพื่อความปลอดภัยจากความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อความรุนแรง 

ขอให้ประชาชนทุกคนเข้าใจและให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวช ให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างเป็นปกติ เพราะผู้ป่วยจิตเวชเป็นเพียงผู้ที่มีอาการการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงเป็นผู้ที่ไร้ความสามารถ หากได้รับการดูแลสนับสนุนและได้รับโอกาสดี ๆ จากญาติ ผู้นำชุมชนและ
คนรอบข้าง ก็สามารถที่จะใช้ชีวิตตามปกติได้ และหากเมื่อใดที่มีอาการกำเริบ ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ปรับการรักษาก็จะทำให้คนในชุมชนและสังคมมีความสุขและปลอดภัย