กรมสุขภาพจิต เปิดแผนดำเนินงานปีงบประมาณ 2568-2570 ช่วยคนไทยหลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน ขณะที่อัตรากำลัง บุคลากรที่ปฎิบัติงานจริงมี  6,952 คน เดินหน้าผลิตเพิ่มตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 งบเงินอุดหนุน รวมปี 2567-2570 ผลิตให้ได้  3,297 คน จิตแพทย์สูงสุด 537 คน รองลงมาพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช  พยาบาลเชี่ยวชาญจิตเวช  นักจิตวิทยาคลินิก   นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช   นักกิจกรรมบำบัดจิตเวช  เภสัชกรจิตเวช  

 

“คนไทยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน...เข้ารับการรักษาเพียง 2.9 ล้านคน...”  ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงการรักษาจิตเวชของคนไทย 

ขณะที่กรมสุขภาพจิต มีการดำเนินงานในการลดปัญหาต่างๆมาตลอด แต่ปัจจัยสำคัญคือ ในเรื่องบุคลากร อัตรากำลังในการให้บริการ งบประมาณต่างๆ ยังมีข้อจำกัด..

ที่ผ่านมา นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า  ตามที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลว่า  ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน  สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเกือบ 7 ล้านคน แต่ไม่ได้หมายความว่า  10 ล้านคนจะป่วยจิตเวชรุนแรง แต่เป็นภาพรวมทั้งวิตกกังวล ซึมเศร้า แต่จากสถิติดังกล่าวจะพบว่า ช่องว่างการเข้าถึงรักษายังขาดอยู่ ซึ่งปัจจุบันกรมสุขภาพจิตมีภาคีเครือข่ายจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะจิตแพทย์ แต่ยังมีพยาบาล นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาทั่วไป รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัด เพราะเรื่องสุขภาพจิตแค่รับฟังก็ช่วยให้เขาผ่อนคลาย สามารถยับยั่งชั่งใจ การตัดสินใจเริ่มเปลี่ยนแล้ว ที่สำคัญการที่เราต้องอาศัยภาคีเครือข่าย เนื่องจากจิตแพทย์ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ

บุคลากรที่ปฎิบัติงานจริง

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของบุคลากรนั้น ได้มีการนำเสนอข้อมูลภายในการตรวจเยี่ยมกรมสุขภาพจิต ของรมว.สมศักดิ์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการเปิดเผยอัตรากำลังของกรมสุขภาพจิต บุคลากรที่ปฎิบัติงานจริงจำนวน 6,952 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 3,393 คน พนักงานกระทรวงฯ 2,040 คน พนักงานราชการ 1,078 คน ลูกจ้างประจำ 386 คน  และลูกจ้างชั่วคราว 55 คน

ขณะที่งบประมาณเปรียบเทียบวงเงินตามพ.ร.บงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566-2568 โดยปี 2566 ได้รับงบประมาณ 2,875.0118 ล้านบาท ปี 2567 ได้รับงบฯ 2,979.9646 ล้านบาท โดยปี 67 เพิ่มขึ้น 3.65% ส่วนปี 2568 ได้รับงบประมาณ 3,036.42.16 ล้านบาท หรือปี 68 เพิ่มขึ้น 1.89%

แผนผลิตกำลังคนสุขภาพจิต ปี 2567-2570

ทั้งนี้ การผลิตกำลังคนสุขภาพจิตตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2568 งบเงินอุดหนุน รวมปี 2567-2570 รวมผลิต 3,297 คน แบ่งเป็นจิตแพทย์ 537 คน พยาบาลเฉพาะทางจิตเวช 1,720 คน พยาบาลเชี่ยวชาญจิตเวช 80 คน นักจิตวิทยาคลินิก 320 คน นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช 320 คน นักกิจกรรมบำบัดจิตเวช 200 คน เภสัชกรจิตเวช 120 คน วงเงินรวมการผลิต 339,990,000 บาท

ส่วนงบการลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2570 รวมงบประมาณ 492.89 ล้านบาท แบ่งเป็น

-อาคารบริการ 379.25 ล้านบาท

-ครุภัณฑ์พัฒนาบริการ 40.13 ล้านบาท

-พัฒนาเครือข่ายดิจิทัล 8.35 ล้านบาท

-อาคารพักเจ้าหน้าที่ 52.33 ล้านบาท

-ระบบโซล่าเซลล์ 12.83 ล้านบาท

แผนดำเนินงานปี 68-70

สำหรับแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2568-2570 อาทิ

1. สุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ไอคิวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 103  อีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติร้อยละ 85  โดยมาตรการ เช่น การพัฒนาทักษะพ่อแม่ ผู้ดูแล   เสริมทักษะทางอารมณ์ สังคม  พัฒนามาตรฐานการดูแลสุขภาพจิต และพัฒนาระบบเฝ้าระวัง บริการ และฟื้นฟูเยาวชนและครอบครัว

2.การดูแลผู้ป่วยจิตเวชและจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) อุบัติการณ์ความรุนแรงจากบุคคลคลุ้มคลั่ง/ จิตประสาท/อารมณ์ ไม่เกิน 33 ต่อแสนประชากร  ทั้งนี้ ใช้มาตรการ วัคซีนใจ(Prevention) ใฝ่ค้นหา  (Pre-Hospital) รีบรักษา (In-Hospital) หาที่ยืน คืนสังคม(Post-Hospital)

3.การป้องกันและแก้ไข ปัญหาการฆ่าตัวตาย อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 7.8 ต่อประชากรแสนคน ใช้มาตรการพัฒนาสื่อความรู้ออนไลน์  พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมข้ามภาคส่วน พัฒนาสารสนเทศเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

4.การส่งเสริมให้ คนไทยสุขภาพจิตดี  โดยคนไทยร้อยละ 85 มีสุขภาพจิตดี มาตรการพัฒนาทักษะส่วนบุคคล  เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ สร้างความรอบรู้สุขภาพจิต  พัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพจิต และพัฒนาเครือข่ายส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขับเคลื่อนหน่วยบริการสุขภาพจิต เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่นพันธุศาสตร์สุขภาพจิต นิติจิตเวชศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ประสาทวิทยาพัฒนาการเด็ก MH Wellness Center เป็นต้น

แนวทางแก้ปัญหาให้ความสำคัญบุคลากร

การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนภายใน 6 เดือน คือ 1.เพิ่มอัตรากำลัง และเร่งการผลิตพัฒนาบุคลากรทุกสาขา 2.เพิ่มการจ่ายค่าบริการของกลุ่มโรคทางจิตเวชให้สะท้อนต้นทุนค่ารักษาที่แท้จริง 3.ผลักดันรายการยาจิตเวชในบัญชียาหลักแห่งชาติ และ4.ปรับมาตรฐานบริการจิตเวชฉุกเฉิน “เฝ้าระวัง ฉับไว ไม่รีรอ ลดการรอคอย”

เพิ่มความครอบคลุมภายใน 1 ปี คือ 1.จัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด(กองทุนชั่วคราว) 2.เพิ่มศักยภาพการบริการสุขภาพจิตในระบบสุขภาพปฐมภูมิ 3.ขยายความร่วมมือในทุกองค์กรเครือข่าย ลดรอคอย

สร้างความยั่งยืนภายใน 2 ปี 1.ปรับแก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพจิต เพิ่มเติมสาระหมวดกองทุนสุขภาพจิต และ2.สร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช