บุคลากร สคร.2 พิษณุโลก คว้ารางวัลชนะเลิศ Youth Award 2024 ผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข ป้องกันการแพร่ระบาด โรคมาลาเรีย ในไทย ลดอุบัติการณ์การเกิดโรคในประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคมาลาเรีย ในปีงบประมาณ 2566 มีผู้ป่วยทั่วประเทศสูงถึง 16,538 คน พบผู้ป่วยจังหวัดตากสูงถึง 9,871 คน และผู้ป่วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2,117 คน แต่ด้วยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ ทำให้ในปีงบประมาณ 2567 สามารถป้องกันการแพร่ระบาด และลดตัวเลขผู้ป่วยทั่วประเทศลงได้ 7.15% โดยเฉพาะในจังหวัดตากลดลงมากถึง 25.70%
ด้วยความสำเร็จนี้เอง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่สาธารณรัฐประชาชนลาว นพ.พีริยะ วตะกูลสิน บุคลากรสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก กรมควบคุมโรค จึงคว้ารางวัลชนะเลิศ Asia-Pacific Action Alliance on Human Resources for Health (AAAH) Youth Award 2024 รางวัลระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มี 22 ประเทศสมาชิกจาก South-East Asia, Western Pacific, and Eastern Mediterranean Region ซึ่งรางวัลดังกล่าวมอบให้กับผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระดับชุมชน แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่โดดเด่น และสร้างแรงบันดาลใจต่อคนรอบข้าง
นพ.พีริยะ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลเป็นเรื่องการแก้ปัญหาสาธารณสุขชายแดนอย่างยั่งยืน การสร้างระบบเฝ้าระวังสองฝั่งชายแดน การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกลไกการแก้ปัญหาระดับประเทศและระดับนานาชาติ ขณะนั้นมีปัญหาโรคมาลาเรียระบาดในประเทศไทย อีกทั้งไม่มีระบบติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานคู่ขนานในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยโรคมาลาเรียสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง
"ผมจึงคิดหาวิธีทำให้รับรู้สถานการณ์ได้เร็วขึ้น นำตัวเองลงพื้นที่ไปสืบค้นปัญหาว่าเกิดจากอะไร สาเหตุที่ทำให้ระบาดเข้ามาในประเทศไทย โดยติดต่อกับเอ็นจีโอ หน่วยงานภาคการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ บูรณาการความร่วมมือกันมากขึ้น" นพ.พีริยะ กล่าวและว่า
ในระหว่างการดำเนินงาน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการฯ ได้ตั้งศูนย์ประสานงาน ภายใต้ศูนย์เรียนรู้สาธารณสุขชายแดน โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาและวิจัย และ International Partner ผนึกกำลังเป็นรั้วสาธารณสุขชายแดน
"สถานการณ์โรคมาลาเรีย ในปีงบประมาณ 2022-2023 มีผู้ป่วยโรคมาลาเรียเยอะมาก แนวโน้มในการอพยพมาค่อนข้างสูง แต่ปีนี้ ลดผู้ป่วยลงไปได้ 25.70% โดยปกติแล้ว ถ้าแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคมาลาเรียจังหวัดตากได้ ผู้ป่วยจะลดจำนวนลงได้เยอะ ช่วยทำให้ลดตัวเลขผู้ป่วยโรคมาลาเรียได้ทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า" นพ.พีริยะ กล่าว
นพ.พีริยะ เพิ่มเติมว่า จากเดิมที่กว่าจะรู้สถานการณ์การระบาดของโรค จะได้รับรายงาน 3 เดือนครั้ง หรือ 1 ปีครั้ง ทำให้ตอบโต้ไม่ทัน ผู้ป่วยทะลักเข้ามาในประเทศไทยจนแก้ปัญหาไม่ได้ แต่หลังจากประสานความร่วมมือแล้ว เปลี่ยนเป็นมอนิเตอร์ตัวเลขรายสัปดาห์ เมื่อทราบว่า ตำบลไหนตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้น ก็จะแจ้งเตือนทันที เพื่อเตรียมอุปกรณ์การตรวจ รับมือกับผู้ป่วย โดยมีเอ็นจีโอคอยสื่อสารด้านภาษาให้ผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้านสามารถดูแลสุขภาพและป้องกันตัวเองได้ดีขึ้น
"ผมมองว่า การแก้ปัญหาสำเร็จได้ สิ่งสำคัญต้องนำตัวเองเข้าไปศึกษาปัญหา อย่างเรื่องนี้จะพบว่า เรื่องของการสื่อสาร และการทำงานที่ทับซ้อน จึงประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญ ผสานความร่วมมือดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน และมีนโยบายจากผู้บริหาร ทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ทำให้การดำเนินงานเห็นผล ที่สำคัญ ต้องไม่ทำเหมือนเดิม แก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ ซึ่งหลังจากนี้ จะมีแผนการดำเนินงาน ขยายไปยังโรคอื่น ๆ ด้วย" นพ.พีริยะ ทิ้งท้าย
- 63 views