"รองผู้ว่าฯ จ.ศรีสะเกษ - ผอ.สำนักงานประชาสังคมงดเหล้า จ.ปัตตานี" เผย การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสำคัญ.. เพราะ "กฎหมายคุมน้ำเมา" ดีแค่ไหน  ถ้าชุมชนไม่ร่วมก็ไม่เกิดผลสำเร็จ ชี้ "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ส่งผลเกิดโรคเอ็นซีดี-เบาหวาน-ความดัน อีกทั้งกระทบค่ารักษาพยาบาลของรัฐพุ่งสูง

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ  มีฟอรั่ม “การกระจายอำนาจสู่พื้นที่ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การท่องเที่ยวแบบปลอดภัย” ภายในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย โดยมี นายสุริยา บุตรจินดา รองผู้ว่าราชการ จ.ศรีสะเกษ นางกัลยา เอี่ยวสกุล ผอ.สำนักงานประชาสังคมงดเหล้า จ.ปัตตานี และ  รศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้ดำเนินรายการ 

นายสุริยา บุตรจินดา รองผู้ว่าราชการ จ.ศรีสะเกษ เผยว่า  จังหวัดสังเกตมีกิจกรรมในการรณรงค์เรื่องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจุดเริ่มต้นคือ เมื่อปี 2549  คนในพื้นที่ตำบลต่างๆ มองว่าเมื่อมีการจัดงานหรือเทศกาลต่างๆ ก็จะมีเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาซึ่งจะทำให้มีปัญหาตามมาคือเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงเรื่องทะเลาะวิวาทอาจจะถึงเสียชีวิตด้วย จากนั้นจึงมีการรวมตัวภาคประชาชนโดยการตั้งรัฐธรรมนูญหมู่บ้านขึ้นมาช่วยหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน 

โดยเฉพาะกรณีการจัดงานศพ ซึ่งเคยไปเก็บข้อมูลพบว่า ต้องเสียค่าใช่จ่ายในการจัดงาน 3-4 แสนบาท บางครอบครัวฐานะยากจนไม่พอใช้จ่ายต้องติดหนี้อีกด้วย นอกจากนี้อำเภอศรีสุวรรณมีการเก็บข้อมูล  16 ปี เกี่ยวกับการลดรายจ่ายในการจัดงานต่างๆ โดยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีเงินคงเหลือ 10 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลนี้หน่วยงานสาธารณสุขให้ความร่วมมือด้วย หลังจากนั้นได้นําเรื่องนี้เข้าไปสู่ในเวทีของจังหวัดและมีการประชุมเพื่อเสนอเข้าไป โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทางเครือข่ายต่างๆเห็นว่ากิจกรรมนี้ดี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเห็นว่าเราควรรณรงค์การจัดงานหรือเทศกาลต่างๆต้องควรงดเหล้า อย่างเมื่อปี 58 เรื่องงานประจําปีของจังหวัดศรีสะเกษก็ไม่ให้มีการเหล้าขายบุหรี่ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม จังหวัดศรีสะเกษยังได้ร่วมมือกับ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ซึ่งตรงนี้จะกระจายไปทุกอําเภอ ทั้ง 22 อำเภอ ซึ่งตรงนี้เราจะมีเครือข่ายได้เข้าร่วม ตนเชื่อว่าภาคประชาชนมีส่วนสําคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น พระ ปลัดอําเภอ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตํารวจ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านแต่ละท้องที่ก็แตกต่างกัน แต่เน้นให้ทุกคนได้มีได้มีความคิดเห็นร่วม ผมคิดว่าการใช้ส่วนนี้ก็จะดีเพราะว่าเขายอมรับกัน ตั้งกติกาหมู่บ้านกันเอง มองว่าสิ่งที่อยู่ในพื้นที่จุดแตกหักก็คือชุมชน เพราะ "กฎหมายคุมน้ำเมา" ดีแค่ไหนถ้าชุมชนไม่ร่วมก็ไม่เกิดผลสำเร็จ"

ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษมี 22 อำเภอ และมีตำบล 206 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีการขับเคลื่อนเชิงรุกแล้ว 42 แห่งคิดเป็น 25% โดยเป้าหมายในปีนี้จะทําทั้ง 206 แห่ง สำหรับกลไกที่เราดําเนินการมาต้องชม สสส. ภาคีเครือข่าย รวมทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่แล้วก็ ประธานสภาวัฒนธรรมในอําเภอต่างๆใน 22 อําเภอ ที่มีความแข็งแกร่งจนทำให้ประสบความสำเร็จได้

ด้านนางกัลยา เอี่ยวสกุล ผอ.สำนักงานประชาสังคมงดเหล้า จ.ปัตตานี เผยว่า ตนเป็นหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำคัญ ขณะนี้จังหวัดปัตตานีมีการขับเคลื่อน 8 ประเด็นในพื้นที่ อาทิ เรื่อง "ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญ" เมื่อก่อนเราลงไปในพื้นที่ชุมชนและสํารวจดูว่า 1 ปีย้อนกลับมางานประเพณี อย่างเช่น งานศพ งานแต่งงาน อื่นๆ เราเก็บข้อมูลดูว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อเหล้ากับค่าใช้จ่ายในการซื้อส่วนอื่นอะไรจะมากกว่ากัน อีกความท้าทายคือ อย่าง ผู้นําชุมชนผลิตสุราเถื่อนแล้วขายมีรายได้เดือนละ 4 แสนบาท ดังนั้นทำให้เราอยากรู้ว่าค่าใช้จ่ายจากการซื้อเหล้าเท่าไหร่ จากการสำรวจเฉพาะงานศพพบว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเงินเกือบ 1 แสนบาท

"ซึ่งผลกระทบที่ตามมา อย่าง เรื่องสุขภาพแต่ละคนหลังจากที่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ประชาชนเป็นโรคเอ็นซีดี ความดัน เบาหวาน มองว่าตราบใดที่ยังดื่มแอลกอฮอล์ อย่าหวังไปเลยกินยายังไงก็ไม่มีทางหาย นี่คือสิ่งที่มันสะท้อนกลับมาให้เห็นว่ารัฐเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาโรคผู้ป่วยเรื้อรังเยอะมาก" นางกัลยา กล่าว

นอกจานี้ มองว่าการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นสามารถทําให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกําหนดมาตรการได้ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมที่เน้นในส่วนของการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตนเคยเสนอด้วยว่า อยากให้มีการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น โดยที่มี นายกอบต. นายกอบจ. ฯลฯ เพราะตนมีแรงพอที่จะผลักดันเข้าเป็นหนึ่งในการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งจังหวัดปัตตานีได้รับการถ่ายโอนรพ.สต. ทั้งหมด 130 ตําบล สำหรับภายใต้กิจกรรมในเรื่องของการรณรงค์การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเราสามารถมีการกําหนดแผนโครงการให้กับชุมชนในพื้นที่ปัตตานีได้

"ความท้าทายจะทําอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการส่งเสริมในเรื่องของการควบคุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่จะต้องเข้าใจชุมชนเพื่อให้เกิดการยอมรับ เราหนีไม่พ้นในเรื่องของชุมชนที่มีชุมชนเล็กชุมชนน้อย ทั้งการผลิตเบียร์ ทําอย่างไรที่ให้เขาผลิตสิ่งเหล่านี้แล้วถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ว่าจะเรื่องอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การมีพวก ที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์" นางกัลยา กล่าวทิ้งท้าย