เปิดมุมมอง 4 พรรคการเมือง ต่อร่าง “กฎหมายคุมน้ำเมา” กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ “คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด” ออกกฎเกณฑ์ อนุญาต วัน เวลา ขาย ดื่ม กำหนดสถานที่ รวมถึงสถานที่ราชการได้บางกรณี ภายใต้เงื่อนไขบริบทของพื้นที่ และคำนึงความคิดเห็นประชาชนเป็นสำคัญ หากเกิดเหตุใดๆ ควรหรือไม่ผู้ได้ใบอนุญาตต้องรับผิดชอบ

  

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ  มีฟอรั่ม “เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลง สู่สังคมสุขภาวะและยั่งยืน” ภายในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วม และมี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการภายใต้อนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวเกริ่นนำถึงข้อห่วงใยผลกระทบต่างๆ ต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่

นพ.คำนวณ ถามถึงข้อห่วงใยกรณีการกระจายอำนาจให้พื้นที่ หรือท้องถิ่น สามารถขยายเวลาหรือขยายสถานที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้น ในเรื่องของผู้อนุญาตจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ หากไม่สามารถควบคุมได้หรือไม่ เช่น สถานที่ราชการ อย่างโรงเรียน สามารถจัดงานมีการขายเหล้าเบียร์ได้ หากเกิดเหตุใดๆ ผู้ที่อนุญาต เช่น ผู้ว่าฯ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนต้องรับผิดชอบหรือไม่ 

พรรคประชาชน

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคประชาชน  เห็นว่า เรื่องบางเรื่องต้องดูเหตุและผลจริงๆ บางทีก็ไกลเกินกว่าเหตุ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว อย่างผู้ว่าฯก็ต้องดูว่าเมื่อได้ใบอนุญาต แต่หากไม่กำกับดูแล ย่อมต้องมีโทษอยู่แล้ว แต่หากโทษ ถึงขนาดต้องจ่ายสินไหมทดแทนก็ต้องดูว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งก็นำไปสู่ข้อเรียกร้องว่า อาจต้องมีกองทุนเยียวยา  ทั้งหมดต้องพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง อีกทั้ง บางพื้นที่อาจไม่ได้อนุญาตให้ขายเลยก็เป็นได้ ก็อยู่ที่บริบทแต่ละพื้นที่

“เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องถึงขนาดระดับชาติ ต้องเป็นเรื่องของพื้นที่ ของคนที่นั่นเอง ให้พวกเขาคิดกันเองและทำกันเองในพื้นที่” นายเท่าพิภพ กล่าว

พรรคเพื่อไทย

นายชนินทร์  รุ่งธนเกียรต์  ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต(ฉบับที่..) พ.ศ...(กมธ.สุราชุมชน) สส.พรรคเพื่อไทย มองเรื่องนี้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก เห็นควรสนับสนุนคณะกรรมการระดับจังหวัด อย่างกฎหมายปัจจุบัน มีคณะกรรมการระดับจังหวัดอยู่แล้วแต่ขาดการมีส่วนร่วมเพราะมีอำนาจหน้าที่ แต่บางจังหวัดแทบไม่เคยประชุม ดังนั้นจึงอยากผ่องถ่ายอำนาจให้คณะกรรมการระดับจังหวัดเพิ่มขึ้น

ประเด็นที่สอง  เมื่อให้อำนาจแล้ว และพื้นที่จะไปกำหนดวัน เวลา สถานที่การจำหน่าย การดื่ม อย่างไร จะผ่อนคลายกว่าเดิม หรือเข้มงวดนั้น  อยากบอกว่า อย่าเพิ่งไปอคติว่า จะผ่อนคลายมากกว่าเดิม เพราะจริงๆ อาจมีมาตรการคุมเข้มมากขึ้นก็ได้ แต่อยู่ที่บริบทมากกว่า  การมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญ และนี่คือ การผ่อนคลายอำนาจให้พื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ดังนั้น ขออย่าไปอคติว่า พื้นที่จะทำให้เกิดการผ่อนคลายมากขึ้น จริงๆ อาจจะรู้ใจประชาชนในพื้นที่มากกว่าส่วนกลาง  

ประเด็นที่สาม เรื่องของความรับผิดชอบ ในร่างกฎหมายได้ให้อำนาจหน้าที่ของผู้ใช้กฎหมายมากขึ้น ดังนั้น  กลไกการขออนุญาตก็ต้องมาที่คณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งจะมีขั้นตอนมีระเบียบกำหนดอยู่แล้ว หากทำไม่ได้ ก็ย่อมไม่ได้รับอนุญาต  อย่างไรก็ตาม  กลไกการมีส่วนร่วมในแต่ละบริบทของพื้นที่ ย่อมดีกว่าการใช้มาตรการเดียว แต่บังคับใช้ทั้งประเทศ  

“ในร่างพ.ร.บ.ฯฉบับใหม่มีเขียนไว้ชัดเจนว่า การจะออกมาตรการใดๆก็ตามในระดับจังหวัด จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสมอ” สส.พรรคเพื่อไทย กล่าว

พรรคภูมิใจไทย

นางกัลยา เอี่ยวสกุล เครือข่ายผู้บริโภคจ.ปัตตานี ในฐานะผู้แทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญเมื่อกระจายอำนาจไประดับพื้นที่ อย่างคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด แต่หากไม่มีงบประมาณเติมลงไปด้วย ก็จะขับเคลื่อนไม่ได้ ดังนั้น ขอให้เติมงบประมาณลงไปด้วย

พรรครวมไทยสร้างชาติ

ดร.ปรเมษฐ์ จินา สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า กรณีคำถามว่า ผู้รับใบอนุญาตในการจัดกิจกรรม จัดงานใดๆเกี่ยวเนื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเกิดเหตุใดขึ้นต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่นั้น ก็ค่อนข้างยาก เพราะต้องเขียนกรอบหลักการในระดับประเทศ ให้มีส่วนร่วม และทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันให้หมด เพื่อให้บริหารจัดการได้มากขึ้น   ต้องมีการควบคุมออกกฎเกณฑ์ อย่างงานฟูลมูนปาร์ตี้ เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ก็จะมีมาตรการ และเป็นเกาะ ไม่ต้องขับรถไปไหน