องค์การเภสัชกรรม รับพระราชทานรางวัล ผู้ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนางานด้านวัคซีน ประจำปี พ.ศ. 2567 ประเภทหน่วยงาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ที่ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร  พญ.มิ่งขวัญ  สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เข้ารับพระราชทานรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนาวัคซีน ประจำปี 2567 ประเภทหน่วยงาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ทั้งนี้  รางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนางานด้านวัคซีน” จัดขึ้นเพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชู สนับสนุน พร้อมให้กำลังใจแก่บุคคลหรือหน่วยงาน ผู้ซึ่งมีผลงานในการสร้างองค์ความรู้ด้านวัคซีนที่มีคุณค่า เป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อน ผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ อันจะนำไปสู่การพึ่งตนเองของประเทศ และสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน

องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญด้านวัคซีนและชีววัตถุเสมอมาตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีนและชีววัตถุชนิดใหม่ให้ทันต่อความต้องการของประเทศ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาวัคซีนหลากหลายชนิด ปัจจุบันมีวัคซีน 5 ผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับทะเบียนยาแล้ว ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 HXP-GPOVac (NDV-HXP-S COVID-19 vaccine), วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิด 3 สายพันธุ์ Tri Fluvac (Seasonal flu) และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิด 3 สายพันธุ์ GPO CellFlu เป็นต้น

นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรมยังมีความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศ มีการพัฒนาการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่รองรับการระบาด (Pre-Pandemic) สายพันธุ์ H7N9 โดยใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน JICA (Japan International Cooperation Agency) ประเทศญี่ปุ่น คอยให้คำแนะนำ มีความร่วมมือกับบริษัท SK. Biosciences ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงจากประเทศเกาหลี เพื่อขยายศักยภาพการผลิตวัคซีนและขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยง

รวมถึงการศึกษาโอกาสในการจัดตั้ง โรงงานผลิต Drug substance ในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือในสถานการณ์การระบาดใหญ่ (Pandemic Preparedness) และการพัฒนาสู่มาตรฐานระดับสากล เช่น WHO Prequalification ต่อไป การเสริมสร้างศักยภาพด้านวัคซีนในทุกด้านนับเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป