เครือข่ายงดเหล้าฯ ร่วมประชุม มูฟเวนดี้ เครือข่าย NGO ด้านการควบคุมสุรานานาชาติ เผยองค์การอนามัยโลกระบุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 1 ใน 9 ปัจจัยเสี่ยงต่อโรค NCD ที่ต้องควบคุม ตัวแทน NGO จากเยอรมัน หนุนไทยไม่ควรให้กฎหมายถดถอย ย้ำบทเรียนที่ผิดพลาดของเยอรมันเสียมากกว่าได้ถึง 3 เท่า
วันที่ 26 มี.ค. 2567 นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าว่า ตนได้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม Movendi International ซึ่งเป็นเครือข่าย NGO ด้านการรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดที่กรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย โดยมีกรรมการตัวแทนจากทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกา อเมริกาใต้ และยุโรปเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์จากทุกภูมิภาคเห็นว่า มาตรการจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 1 ใน 9 ปัจจัยเสี่ยงต่อโรค NCD ที่ต้องควบคุม และได้ออกข้อแนะนำ SAFER Initiative ให้รัฐบาลแต่ละประเทศได้ใช้ในการกำหนดนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ
1.การควบคุมโฆษณาส่งเสริมการขาย
2.การจำกัดสถานที่ดื่ม สถานที่ขาย รูปแบบการขาย วัน เวลา และอายุ
3.มาตรการทางด้านภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ
“แผนปฏิบัติการควบคุมแอลกอฮอล์ ปี 2565-2572 (Global Alcohol Action Plan 2022-2030) ได้กำหนดกรอบการบรรลุเป้าหมายให้แต่ละประเทศในการลดอันตรายจากการดื่มลง 20% จากข้อมูลปี 2553 ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้ประเมินว่า มีกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกาที่มีมาตรการที่เข้มแข็งขึ้น ได้แก่ รัสเชีย ลิทัวเนีย เอาทัวเนีย ไอร์แลนด์ และสก๊อตแลนด์ ซึ่งมีการห้ามโฆษณา ห้ามการส่งเสริมการขาย การเพิ่มภาษี ทำให้สถิติปัญหาต่างๆ ลดลงชัดเจน ส่วนประเทศที่ไม่ได้ปรับปรุงมาตรการ ได้แก่ เยอรมัน ฟินแลนด์ แคนาดา อเมริกา” นายธีระ กล่าว
ด้านนาย Maik Dünnbier ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์และนโยบาย Movendi International ตัวแทน NGO จากเยอรมัน กล่าวว่า เครือข่าย Movendi ได้ติดตามการทำตลาดของทุนแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ (Big Alcohol Exposed Project) ทั้งในยุโรป และญี่ปุ่น แบรนด์ยักษ์ใหญ่กว่า 10 แบรนด์โดยแนวโน้มทุนเหล่านี้จะมาทำตลาดในประเทศที่มีความชุกของการดื่มต่ำ เช่น อาเซียน อินเดีย แอฟริกา โดยประเทศเหล่านี้จะขาดกฎหมายควบคุมที่เข้มแข็งเหมือนไทย โดยอาศัยการทุ่มการโฆษณา กิจกรรมการตลาดลดราคา และการทำ CSR เพื่อให้การดื่มเป็นเรื่องธรรมดา โดยเน้นกลุ่มผู้หญิงเด็กเยาวชน เข้าไปทำกิจกรรมสอนให้ดื่มรับผิดชอบหรือดื่มแบบพอดี ซึ่งเป็นกลยุทธ์บังหน้า สร้างภาพลักษณ์ ที่เจ้าของแบรนด์ไม่ต้องรับผิดชอบในสินค้าตนเอง ข้อสังเกตคือ ขณะนี้สถิติการดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไทยที่มีกฎหมายเข้มแข็งกว่า ทำให้ไทยสามารถชะลอการเพิ่ม ลดกระแสการตลาดได้ จึงไม่แปลกใจที่ธุรกิจเหล่านี้จะเข้าร่วมแทรกแซง แก้ไขกฎหมายของไทยเพื่อจะได้ทำการตลาดได้เต็มที่ เพราะไทยยังมีคนไม่ได้ดื่มอีกมาก
“บทเรียนของเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมีเสรีในสินค้าน้ำเมา การศึกษาพบว่ามีความสูญเสียต่อเศรษฐกิจกว่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่รัฐได้ภาษี 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดทุนกว่า 3 เท่า โดยการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ที่สามารถซื้อกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย สุดท้ายผูกขาดยิ่งกว่าเดิม ด้านฝ่ายสาธารณสุขไม่สามารถเสนอกฎหมายควบคุมได้ แม้จะรู้ว่ามีปัญหามากมาย เพราะการแทรกแซงทางการเมืองของทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ ตนเองจึงสนับสนุนประเทศไทย ไม่ควรจะให้กฎหมายถดถอยแต่ควรแก้ไขให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้เยอรมันจะมีเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ถ้ามีมาตรการที่เข้มแข็งแบบไทย” นาย Maik กล่าว
- 106 views