กรมควบคุมโรคเผย 35 จังหวัดพบเชื้อมาลาเรีย โดย 7 จ.ในกลุ่มพบเคยปลอดโรคแต่กลับติดเชื้ออีกครั้ง ชี้ปัจจัยการข้ามแดน ประเด็นชายแดนเป็นส่วนสำคัญ  ส่วนอีก 42 จังหวัดปลอดโรคมาลาเรีย พร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์กำจัดโรคให้หมดภายในปี 2569  

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์วันมาลาเรียโลก 2567 ภายใต้แนวคิด Zero indigenous malaria is possible “กำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไป ประเทศไทยทำได้” ว่า  ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรียอยู่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก ตามที่ได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรีย พ.ศ. 2560-2569 โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) Asia Pacific Leaders Malaria Alliance (APLMA)   และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ ทำให้ประเทศไทยมีจังหวัดปลอดโรคไข้มาลาเรีย

นพ.ธงชัย กล่าวว่า  สถานการณ์ขณะนี้ พบบางจังหวัดที่ปลอดมาลาเรีย เริ่มกลับมาเจอโรคในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ชายแดน มีการเดินทางข้ามฝั่งมา โดยเฉพาะชายแดนเมียนมา มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ USAID และภาคีเครือข่ายในการร่วมมือให้ภูมิภาคนี้ ลดการป่วยของโรค และให้หมดไปในที่สุด   อีกประเด็นที่น่าห่วง คืออย่างการท่องเที่ยวตามป่าเขา น้ำตก ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อย่างอยู่กทม.ไปเที่ยวกลับมาป่วยเป็นมาลาเรีย แพทย์อาจไม่ทราบก็จะไม่คิดถึงโรคนี้ ดังนั้น หากมีไข้จับสั่นรีบไปพบแพทย์และแจ้งให้แพทย์ว่ามีประวัติเที่ยวป่า

ปัญหาชายแดนมีผลพบมาลาเรียเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงสถานการณ์โรคมาลาเรียในชายแดนเมียนมา นพ.ธงชัย กล่าวว่า  หลังจากมีสถานการณ์การสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน และเคลื่อนมาไทยตามแนวชายแดน อย่าง จ.ระนอง แต่ละปีจะพบประมาณ 10 คน แต่ปัจจุบันเป็นร้อยคน อย่างไรก็ตาม บริเวณชายแดนจะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ซึ่งการที่จะค้นหา หรือพบผู้ป่วยอาจไม่ทัน ยุงจะนำเชื้อมาแพร่ได้ ดังนั้น ต้องระมัดระวังตัว และป้องกันตนเอง ส่วนที่กังวลว่า การติดเชื้อจากป่า จะแพร่มายังเมืองหรือไม่นั้น เรามีทีมวิจัย ซึ่งยังไม่พบว่า ยุงก้นปล่องจะแพร่เชื้อมายังยุงเมืองได้

“คนเมืองที่ไปเที่ยวป่าและกลับมา กทม. ไม่ต้องกังวลวว่า จะนำเชื้อมาแพร่จากการที่ยุงเมืองกัดตนเองและไปกัดคนอื่น  ที่กังวลคือ กลับมาแล้วป่วย แต่ถูกรับวินิจฉัยช้า เพราะไม่ได้คิดถึงโรคนี้ ดังนั้น หากไปพบแพทย์ย้ำว่า ขอให้แจ้งประวัติว่าไปพื้นที่ไหน ซึ่งสามารถเช็กกับทางกรมควบคุมโรคได้ว่า พื้นที่ไหนที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย” นพ.ธงชัยกล่าว

สถานการณ์มาลาเรียไทยตั้งแต่ต้นปีพบป่วย 2,913 ราย

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่เดือนมกราคม-ปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 2,913 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกัน จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ตาก 1,671 ราย แม่ฮ่องสอน 308 ราย กาญจนบุรี 251 ราย ระนอง 187 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 174 ราย โดยพบในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 74 ประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ ร้อยละ 41 เป็นผู้ป่วยต่างชาติ ร้อยละ 60

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันมีกี่จังหวัดที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย นพ.ธงชัยกล่าวว่า ปัจจุบันมี 22 จังหวัดที่มีเชื้อมาลาเรีย  พบว่ามีแพร่เชื้อเยอะ 6 จังหวัด และพบว่ามีอีก 7 จังหวัดที่ปลอดเชื้อแต่กลับมาแพร่เชื้ออีก รวมแล้วขณะนี้จังหวัดที่แพร่เชื้อมาลาเรียรวม 35 จังหวัด

เมื่อถามว่าจะมีมาตรการป้องกันโรคอย่างไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า   มีแผนการป้องกันทุกจังหวัดตามแนวชายแดน เพื่อรับสถานการณ์ ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ตามชายแดนก็มีแผนปลอดโรคมาลาเรียเช่นกัน ที่เรียกว่า  มาตรการ 1-3-7 โดย แจ้งเตือนเมื่อพบผู้ป่วยภายใน 1 วัน สอบประวัติเพื่อระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน และตอบโต้สถานการณ์ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งควบคุมยุงพาหะนำโรคโดยเฉพาะพื้นที่ระบาด และเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อให้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และต้องกินยาให้ครบ ป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำ

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับโรคมาลาเรียนั้น จะมีกลุ่มที่เรียกว่า PV  ซึ่งเป็นเชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium vivax: PV) เป็นกลุ่มอาการน้อย บางทีมีอาการ ไม่มีอาการ   ตนเองมีภูมิคุ้มกันเล็กน้อย ทำให้ไม่ป่วยหนัก บางทีไม่มีอาการแต่ตนเองยังมีเชื้ออยู่ โดยอาการ PV พบได้ประมาณ 90%  โดยเราสังเกตได้ว่าป่วยในพื้นที่มีประวัติหรือไม่ หากมีก็ต้องแจ้งแพทย์ ปัญหาคือ กลุ่มนี้อาการอยู่นานเป็นปี ซ่อนอยู่ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะการจะแพร่เชื้อได้ต้องมีอาการ ซึ่งหากยุงไปกัดขณะมีเชื้อในเลือดก็แพร่เชื้อได้ แต่ต้องเป็นยุงก้นปล่องเท่านั้น  

42 จังหวัดปลอดมาลาเรีย มี 35 จังหวัดแพร่เชื้อ และ 7 จ.ติดเชื้อซ้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุจังหวัดปลอดโรคมาลาเรียประเทศไทยในปี 2566 มีการประเมินผ่านเกณฑ์ 42 จังหวัด และพบว่า มี 35 จังหวัดที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียอยู่ โดย 7 จังหวัดใน 35 จังหวัดพบว่า เป็นกลุ่มที่เคยปลอดเชื้อมาลาเรียมาก่อน แต่กลับมีผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่อีกครั้ง ประกอบด้วย ชัยภูมิ ภูเก็ต พิษณุโลก ลำพูน  กำแพงเพชร สระบุรี และสุพรรณบุรี

ส่วนพื้นที่แพร่เชื้อ 35 จังหวัด มีดังนี้ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร  ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ สงขลา ยะลา นราธวาส อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ชลบุรี ตราด จันทบุรี สระแก้ว  ฉะเชิงเทรา มุกดาหาร สุรินทร์ นครราชสีมา และน่าน

เชื้อมาลาเรียมีทั้งรุนแรง และไม่รุนแรง

ด้าน พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง คร. กล่าวว่า  การกำจัดโรคมาลาเรียให้เป็น 0 ในประเทศไทยนั้น แปลว่าการกำจัดสายพันธุ์ Plasmodium  falciparum เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม หรือ พีเอฟ (P.f.) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง สมองบวม โคม่า  ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไม่ให้สายพันธุ์นี้มีการติดเชื้อต่อในประเทศไทย  แม้ว่าจะมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นกรณีที่นำเข้ามาจากเพื่อนบ้าน แต่จะต้องดำเนินการจัดการให้ได้ทันที เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อต่อภายในประเทศไทย 

ปัจจุบันเชื้อสายพันธุ์นี้พบผู้ป่วยในประเทศไทยราว 5 %  เป็นสายพันธุ์ Plasmodium  vivax เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ หรือ พีวี (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ 90 % และอีก  5 % เป็นสายพันธุ์อื่น

“ผู้ป่วยมาลาเรียหากได้รับการรักษาทัน รับประทานยาครบ 3 วันติดต่อกัน แต่สายพันธุ์พีวี จะต้องกินยาต่ออีก 14 วันเพื่อฆ่าเชื้อในตัวที่มีอยู่แต่อาจจะไม่แสดงอาการแล้ว ซึ่งปัญหาที่เจอคือผู้ป่วยจำนวนมากกินยาไม่ครบ 14 วัน จึงมีการคิคค้นยาใหม่ให้กินเพียง 1 เม็ด 1 วัน  โดยผู้ป่วยที่จะได้รับยาตัวนี้จะต้องไม่มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-ซิก-พีดี(G-6-PD) มิเช่นนั้นเมื่อได้รับยาแล้วจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย จึงต้องมีการทดสอบภาวะนี้ก่อน ทั้งนี้ คนไทยและประเทศเพื่อบ้านมีภาวะพร่องเอนไซม์นี้10-15 % ถือว่าสูง”พญ.ฉันทนากล่าว