ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง สิทธิบัตรทอง 30 บาท บอกเล่าประสบการณ์ “ล้างไตทางช่องท้อง” เปลี่ยนน้ำยาด้วยมือ ต้องทำถี่-ไม่สะดวก-เสี่ยงติดเชื้อบ่อย เผยการเปลี่ยนแปลงหลังใช้เครื่องล้างอัตโนมัติ “APD” ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมมาก สามารถใช้เวลาได้เต็มที่ในช่วงกลางวัน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2567 นายบุญถม จำปารอด ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) อายุ 62 ปี เปิดเผยว่า ตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุ 50 ปี จากนั้นจึงตามมาด้วยโรคเกาต์ โรคหัวใจ รวมถึงโรคไตในเวลาต่อมา เนื่องจากแพทย์เคยสั่งห้ามไม่ให้ทานยาชุดแก้ปวด แต่หากตนไม่ทานก็จะปวดจนทำงานไม่ได้ กระทั่งวันหนึ่งที่เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินและต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์แจ้งว่าตนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น ซึ่งต้องทำบอลลูน 3 ครั้ง ในขณะที่ไตก็ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

นายบุญถม กล่าวว่า ในปี 2564 ขณะที่ตนอายุ 58 ปี จึงได้เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการบำบัดทดแทนไต โดยใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ที่เปลี่ยนน้ำยาด้วยมือ ซึ่งเริ่มต้นจากการเปลี่ยนน้ำยา 4 ครั้งต่อวัน เมื่อดีขึ้นก็ลดลงเหลือ 3 ครั้งต่อวัน แต่พอมีอาการบวมและมีน้ำหนักเพิ่มก็ต้องกลับมาล้าง 4 ครั้ง ไปจนถึง 5 ครั้งต่อวัน ซึ่งตนพบว่าเกิดความไม่สะดวกอย่างมาก เนื่องจากรอบการล้างแต่ละครั้งห่างกันเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

“ตื่นมาถึงล้างตอนหกโมงเช้า แล้วแป๊บๆ ก็ต้องมาล้างอีกตอนเที่ยง บ่ายสอง หกโมงเย็น สี่ทุ่มก็ล้างอีก เลยไม่ค่อยมีเวลาได้ออกไปไหน เพราะรู้สึกเวลามันผ่านไปเร็วเหลือเกิน เดี๋ยวสักพักก็ต้องกลับมาล้างแล้ว พอหมอถามว่ามีใครอยากได้เครื่องอัตโนมัติไหม ก็สนใจและขอลงทะเบียนไปทันที” นายบุญถม ระบุ

นายบุญถม กล่าวว่า หลังจากที่ตนเริ่มเปลี่ยนมาใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 โดยเข้ารับการฝึกใช้งานที่คลินิกเวชกรรมเคดีเคซี ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานประมาณ 2-3 วัน ก็เริ่มคุ้นเคยและคล่องขึ้น พบว่าชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก เพราะทำการล้างเพียงวันละ 1 รอบระหว่างนอนเท่านั้น แม้จะกลับบ้านดึกก็ไม่เป็นปัญหา เพียงแค่มีเวลาล้างให้ครบ 10 ชั่วโมง ถ้าอยากตื่นสายก็ใส่ตอนดึก แต่ถ้าอยากตื่นเช้าก็ใส่เร็วขึ้น ส่วนช่วงกลางวันก็ไม่ต้องยุ่งยากคอยเปลี่ยนน้ำยา สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ง่ายขึ้น

นายบุญถม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ ยังดีกว่าการเปลี่ยนน้ำยาด้วยมือ ตรงที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้ เพราะโดยปกติโอกาสเสี่ยงติดเชื้อจะเกิดขึ้นบริเวณฝาหัวจุกเปิด-ปิด ซึ่งหากทำการล้าง 5 รอบ เราก็ต้องเปิดฝาออกมา 5 ครั้ง แต่เมื่อใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ เราเปิดออกมาเพื่อเอาเข้าก่อนนอน กับเอาออกในตอนเช้าเท่านั้น โดยระหว่างนั้นก็ยังสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ภายในบ้านได้สะดวก เพราะตัวเครื่องมีสายที่ให้ยาวถึง 3 เมตร ส่วนในกรณีหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เช่น ไฟดับ ก็สามารถกลับมาเปลี่ยนน้ำยาด้วยมือได้เช่นกัน

ขณะที่ น.ส.ชลธิชา มาลีเมาะ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะท้ายสิทธิบัตรทอง 30 บาท อายุ 29 ปี กล่าวว่า ตนเองเข้ารับการรักษาไรคไตอักเสบมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แต่เมื่อแพทย์แจ้งว่าหายดีแล้วจึงไม่ได้รักษาต่อ จนกระทั่งเมื่อถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 เริ่มรู้สึกเหนื่อยง่ายและบวม สามารถทำกิจกรรมกับเพื่อนได้น้อยลง ในวันหนึ่งเมื่อเกิดอาการวูบและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ก็ได้รับการตรวจพบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดทดแทนไต

น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า ขณะนั้นแพทย์ได้แนะนำให้ใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง เนื่องจากมองว่าตนกำลังเรียนอยู่ ซึ่งจะสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)  ที่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทำให้อาจต้องหยุดเรียนบ่อย โดยช่วงแรกตนรู้สึกกังวลบ้างที่ต้องเปลี่ยนน้ำยาด้วยตนเอง แต่เมื่อได้มาเรียนกับคลินิกเวชกรรมเคดีเคซี พบว่าพยาบาลให้การสอนดีมาก เพียง 7 วันก็สามารถทำได้ แล้วหลังจากนั้นก็มีน้ำยาคอยส่งไปให้ถึงที่บ้าน

น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า นับจากที่ตนได้เริ่มล้างไตทางช่องท้องตั้งแต่ช่วงปี 2561 แม้จะรู้สึกสะดวกเพราะสามารถกลับไปเรียนได้ตามปกติ รวมถึงบ้านและมหาวิทยาลัยก็อยู่ไม่ไกลกันนัก ทำให้สามารถขับรถไป-กลับเพื่อเปลี่ยนน้ำยาได้ แต่ก็เริ่มพบอุปสรรคเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 และต้องทำวิทยานิพนธ์ ในขณะที่เพื่อนอยู่ทำงานแต่ตนกลับต้องไปเปลี่ยนน้ำยาล้างไต ส่วนร่างกายก็เหนื่อยง่ายกว่าคนอื่น นั่งหรือยืนนานก็เวียนหัว จนในที่สุดจึงต้องยอมดรอปเรียนเพื่อที่จะไปพัก เพราะไม่ได้มีแค่โรคไตอย่างเดียวที่เผชิญ แต่ยังมีความดันและโรคอื่นๆ ร่วมด้วย

น.ส.ชลธิชา กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์เปลี่ยนน้ำยาด้วยมือมาเป็นเวลา 6 ปี ในช่วงเรียนเคยพกน้ำยาออกไปล้างนอกสถานที่ แต่เกิดติดเชื้อในช่องท้องและต้องมารักษา ตอนหลังจึงตัดสินใจล้างอยู่ภายในบ้าน โดยปัจจุบันตนมาช่วยที่บ้านทำงานเฝ้าร้านขายของทุกวัน ตั้งแต่ 6.00 – 20.00 น. ซึ่งต้องคอยกลับเข้าบ้านไปเปลี่ยนน้ำยา 3 รอบ ทำให้รู้สึกเสียเวลา ขณะนี้ตนจึงตัดสินใจที่จะเลือกใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ ที่ล้างเพียงรอบเดียว เพื่อที่ช่วงกลางวันจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

“หนูใช้บัตรทองมาตลอดตั้งแต่ที่ล้างไตมา ก็รู้สึกว่าดีมาก เพราะค่าน้ำยาไม่ต้องเสียเลย แล้วเขาก็ส่งให้ถึงบ้านโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร เขาเตรียมให้หมด อย่างเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีปัญหาอะไรขึ้นมา โทรหาทางคลินิกฯ เขาก็รับเลยทันที ซึ่งที่นี่ช่วยแก้ปัญหาได้เร็วมาก จะมีก็อาจเป็นในส่วนของค่าเดินทาง หรือบางทีเรามีค่ายาพิเศษนอกบัญชีที่ต้องจ่ายเอง แต่ในส่วนของบัตรทองก็ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปมาก ที่ทำให้หนูไม่ต้องเสียค่าเครื่อง ค่าน้ำยาไปด้วยอีก” น.ส.ชลธิชา กล่าว