ปี 2566 พบ ปชช. ใช้สิทธิบัตรทองทำฟัน 3.17 ล้านครั้ง สะท้อนการเข้าถึงบริการ กลุ่มอายุ 5-14 ปีเข้ารับบริการมากที่สุด เผยทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันลดปัญหาฟันผุในกลุ่มวัยประถม-มัธยมต้น ดูแลสุขลักษณะ พร้อมเผยล่าสุดมีคลินิกทันตกรรม 1,248 แห่ง ร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ช่วยเพิ่มความสะดวกเข้าถึงบริการทันตกรรมให้ประชาชน 

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ได้ให้ความสำคัญต่อบริการทันตกรรมในการดูแลสุขภาพช่องปากให้กับคนไทยทุกคน โดยครอบคลุมทั้งบริการป้องกัน การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพในช่องปากให้กับทุกกลุ่มวัย 

จากรายงาน “การสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566” ซึ่งเป็นการรายงานผลการดำเนินงาน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในหมวดการรับบริการสาธารณสุขงบเหมาจ่ายรายหัวให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยในส่วนของ “บริการผู้ป่วยนอก” พบว่า “โรคฟันผุ” เป็นภาวะเจ็บป่วยที่มีประชาชนเข้ารับบริการถึงจำนวน 3,170,446 ครั้ง หรือสู่เป็นอันดับที่ 7 ของจำนวนการเข้ารับบรการผู้ป่วยนอกทั้งหมด ขณะที่ “โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์” ก็เป็นภาวะเจ็บป่วย ที่มีประชาชนเข้ารับบริการสูงเป็นอันดับที่ 10 โดยมีจำนวน 2,093,009 ครั้ง และ “โรคของเนื้อเยื่อในฟันและเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟัน” ก็มีจำนวนการเข้ารับบริการ จัดอยู่ในอันดับที่ 12 จำนวน 1,160,919 ครั้ง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นนี้ เฉพาะโรคฟันผุ เมื่อแยกตามอายุของประชาชนที่เข้ารับบริการ พบว่า กลุ่มอายุ 5-14 ปี มีจำนวนการเข้ารับบริการมากที่สุด อยู่ที่ 1,495,856 ครั้ง รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-59 ปี จำนวนการเข้ารับบริการอยู่ที่ 1,028,423 ครั้ง ตามด้วยกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มอายุ 1-4 ปี กลุ่มอายุ 60-69 ปี และกลุ่มอายุน้อยกว่า 1 ปี โดยการรับบริการอยู่ที่จำนวน 611,673 ครั้ง 458,300 ครั้ง172,031 ครั้ง และ 52,057 ครั้ง (ตามลำดับ) 

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อมูลการรับบริการทันตกรรมปีงบประมาณ 2566 นี้ เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2565 พบว่า ปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่อันดับ 8 จำนวน 4,143,581 ครั้ง ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่อันดับ 7 จำนวนรับบริการ 4,393,278 ครั้ง  ปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่อันดับ 9 จำนวน 2,722,699 ครั้ง และ ปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่อันดับ 9 จำนวนรับบริการ 2,223,090 ครั้ง ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปี คือปีงบประมาณ 2564-2565 ที่มีจำนวนการเข้ารับบริการทันตกรรมลดลง เนื่องจากเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ในปีถัดมาจำนวนการรับบริการได้เพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 4 ล้านครั้ง   

 “ข้อมูลบริการทันตกรรมผู้ป่วยนอกข้างต้นนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมของคนไทยโดยใช้สิทธิบัตรทองแล้ว ยังเป็นข้อมูลชี้ให้เห็นเห็นถึงปัญหาสุขภาพช่องปากของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 5-14 ปี มีจำนวนการเข้ารับบริการสูงที่สุด ทั้งที่เป็นกลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมไปจนถึงระดับมัธยมต้น ที่ต้องมีการดูแลสุขลักษณะร่างกายที่ดีรวมถึงสุขภาพในช่องปาก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในการให้ความรู้เพื่อลดปัญหาฟันผุในประชากรกลุ่มนี้ ทั้งการกินลูกอม ของหวานและขนมจุกจิกต่างๆ รวมถึงการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า โรคฟันผุถึงเป็นปัญหาเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่น แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น นอกจากสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังตามมาด้วยโรคภัยต่างๆ มากมายที่อาจลุกลามจนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็น “โรคเบาหวาน” เพราะด้วยเชื้อแบคทีเรียจากฟันผุอาจทำให้ความสามารถของการควบคุมระดับน้ำตาลลดลง ตามมาด้วยโรคหัวใจซึ่งเมื่อเชื้อแบคทีเรียที่กระจายไปตามหลอดเลือดและไหลเวียนเข้าสู่หัวใจก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจได้ รวมถึงโรคปอดติดเชื้อที่เชื้อแบคทีเรียจากฟันผุจะปนกับน้ำลายและไหลเข้าไปสู่ปอด ทำให้ปอดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะฟันผุหรือมีปัญหาสุขภาพในช่องปากจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีตามระดับความรุนแรงของอาการ รวมถึงการดูแลป้องกันในกรณีผู้ที่ไม่มีฟันผุด้วย 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทันตกรรมโดยใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น นอกจากการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่โรงพยาบาลแล้ว ปี 2567 สปสช.ยังได้เพิ่มเติมการให้บริการที่คลินิกทันตกรรมเอกชน หนึ่งใน 7 หน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง โดยร่วมมือกับทันตแพทยสภาและเป็นการดำเนินการ ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ของรัฐบาล ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เป็นหน่วยนวัตกรรมบริการจำนวน 1,248 แห่ง ที่ผ่านมาร่วมให้บริการประชาชนแล้วจำนวน 230,152 คน เป็นจำนวน 445,364 ครั้ง (ข้อมูล 30 ต.ค. 67)
 
ทั้งนี้ บริการทันตกรรมในระบบบัตรทองที่คลินิกทันตกรรม ให้บริการดูแลสุขภาพช่องปากเบื้องต้น 6 รายการ ได้แก่ 1.ตรวจสุขภาพช่องปาก 2.ขูดหินปูน 3.อุดฟัน 4.ถอนฟัน 5.เคลือบหลุมร่องฟัน และ 6.เคลือบฟลูออไรด์ โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้คนละ 3 ครั้งต่อปี เมื่อใช้สิทธิครบแล้วผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ส่วนผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการทันตกรรมที่อยู่นอก 6 รายการนี้ สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิได้ เชื่อว่าจะทำให้คนไทยทั่วประเทศมีรอยยิ้มสดใส มีสุขภาพช่องปากที่ดี