ประธานชมรมเภสัชชนบท เผย ‘ภาวะกดดันในที่ทำงาน’ พบได้ทุกวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างเภสัชกร ไม่ใช่แค่จ่ายยาหน้าเคาท์เตอร์ เสนอมีกระบวนการสร้างคนก่อนเป็นหัวหน้า จัดคลินิกดูแลสภาพจิตใจเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข มีกลุ่มบำบัด ไม่ใช่แค่โปรแกรมประเมินตนเอง และระหว่างป่วย เสนอ สธ. มีสวัสดิการ ชดเชยหรือช่วยเหลือตามเหมาะสม
จากกรณี เภสัชกรหนุ่มศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จบชีวิตตัวเอง เหตุมีภาวะกดดันในสถานที่ทำงาน จนถูกนำกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง โดยเฉพาะวิชาชีพที่ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดัน เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ล่าสุด ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท และ นายกสมาคมศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า ความกดดันในสถานที่ทำงานพบได้ในทุกวิชาชีพ แต่ในมุมผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง ต่างได้รับความกดดันจากการทำงาน เพราะชีวิตของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับเรา
สำหรับเภสัชกร ทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่จ่ายยาอยู่ที่เคาท์เตอร์แต่เพียงอย่างเดียว เภสัชกรยังรับหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำเรื่องยา ประเมินการแพ้ยา ดูความถูกต้องกับโรค หากมีความผิดพลาดก็จะกระทบต่อตัวผู้ป่วยถึงความเป็นความตาย ในระหว่างการทำงาน อาจพบเจอความกดดันเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องชีวิตของผู้ป่วย จึงต้องประเมินและติดตามการทำงาน ทำให้กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพต้องดูแลกันเองเช่นกัน
"ความเจ็บป่วยเหล่านี้ซึมอยู่กับบุคลากรทางการแพทย์ เหมือนเราซึมซับความเจ็บป่วย ความไม่สบายของผู้ป่วย แล้วก็ถูกทับถมด้วยความรู้สึกจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ทำให้ความรู้สึกทวีมากยิ่งขึ้น เทียบกับวิชาชีพอื่นอาจมีแค่เรื่องเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา จึงแตกต่างกัน อยากให้เหตุการณ์นี้เป็นตัวสะท้อนถึงภูเขาน้ำแข็ง ที่เป็นปัญหาอยู่ข้างใต้" ภก.สุภนัย กล่าว
แนะแนวทาง "รับฟังอย่างลึกซึ้ง" จัดกลุ่มบำบัดในที่ทำงาน
การรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่คุยกันในฐานะหัวหน้าหรือลูกน้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกัน ภก.สุภนัย ย้ำว่า ควรมีกระบวนการสร้างคนก่อนจะเป็นหัวหน้า หรือการคัดเลือกก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ ในที่ทำงานหรือองค์กร ควรมีวงสนทนา หรือกลุ่มบำบัดในที่ทำงาน ให้สามารถพูดคุยกันในกลุ่มที่มีสภาวะแวดล้อมเดียวกัน เช่น กลุ่มองค์กรเภสัช ช่วยไม่ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
หลักสูตรสร้างบุคลากรให้มีวุฒิภาวะในการทำงานร่วมกัน
ส่วนสถาบันการศึกษาในหลักสูตรสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล 4 สาขานี้ นอกเหนือจากวิชาการแล้ว ยังมีหลักสูตรกิจกรรมเสริม ที่สร้างบุคลากรให้มีวุฒิภาวะ มีกิจกรรมกลุ่มการทำงานร่วมกัน ซึ่งสอดแทรกเรื่องความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน แต่ปัญหาสำคัญ คือ เมื่อถึงเวลาทำงานจริง สภาวะแวดล้อม ผู้คนรอบข้างมีอิทธิพลในการช่วยเหลือหรือไม่ องค์กรให้คุณค่ากับบุคลากรทางการแพทย์มากน้อยแค่ไหน
"ในการทำงาน หมอต้องก้มหน้าตรวจอย่างเดียว เภสัชกรก็ก้มหน้าจ่ายยา ทุกคนทำงานแข่งกับเวลา พอหมดเวลาก็แยกย้ายกันออกไปหาความสุขนอกโรงพยาบาล ทำอย่างไรให้องค์กรมีสิ่งที่เกื้อหนุนการทำงานของบุคลากร เพราะทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน บางคนใน 24 ชั่วโมง อยู่กับเพื่อนร่วมงาน อยู่ในโรงพยาบาล จึงต้องมีกลไกที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ"
จัด ‘คลินิกดูแลจิตใจ’ เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์
"ถ้าการทำงานไม่มีความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ก็อาจทำให้เกิดปัญหา ต่อตัวผู้ป่วยเองยังสามารถอธิบายให้ได้ แต่กับผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันควรจะทำความเข้าใจ รับฟังกันยิ่งขึ้น ผมมองว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นดูแลผู้ป่วยจิตเวช เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล แต่สภาวะจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน ยังไม่มีโครงการดูแลบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง เรามีคลินิกจิตบำบัดสำหรับผู้ป่วย แต่เราไม่มีคลินิกให้คำปรึกษาทางด้านซึมเศร้า หรือเรื่องจิตบำบัดกับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง" ภก.สุภนัย กล่าวและว่า
ถ้าเข้าโครงการร่วมกับผู้ป่วยทั่วไป อาจส่งผลกระทบเรื่องความน่าเชื่อถือ ความลับของบุคลากรทางการแพทย์ บางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจที่ถูกตีตราว่าไม่สบาย หรือมีภาวะโรคซึมเศร้า หากมีคลินิกเฉพาะที่ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ให้แข็งแรงก่อนไปดูแลผู้ป่วย จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีขวัญกำลังใจในการทำงานมากขึ้น
ชง สธ.จัดสวัสดิการด้านจิตใจให้บุคลากร
ภก.สุภนัย ยังได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข จัดสวัสดิการให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีช่องทางในการเข้าร่วมโครงการให้คำปรึกษา หรือมีคลินิกพิเศษให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อดูแลสภาพจิตใจโดยเฉพาะ แม้ว่าขณะนี้มีโปรแกรมประเมินตนเองส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ประเมินสภาพจิตของตนเอง แต่เท่านี้ไม่เพียงพอ ยังต้องมีกิจกรรมหรือกลุ่มบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาทำงานได้ ในระหว่างที่ป่วยอาจมีการชดเชยหรือทดแทนได้อย่างไร ต้องดูในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น
ภก.สุภนัย ทิ้งท้ายว่า การถูกบอกว่าป่วยด้วยปัญหาจิตเวช หรือมีภาวะซึมเศร้า ก็จะรู้สึกอาย จึงต้องมีคลินิกที่ปกปิดข้อมูลไว้เป็นความลับ แต่เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยถึงขั้นต้องใช้ยา กลับถูกซ้ำเติมด้วยค่ายาที่มีราคาแพง และอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกจากเจ็บป่วยแล้ว ยังมีความทุกข์จากค่าใช้จ่าย เคยคุยกับบุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่ง ที่ต้องใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ แต่ต้องปฏิเสธเพราะค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและต้องจ่ายเอง เพราะใช้สิทธิข้าราชการเบิกไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เกิดปัญหาในการทำงานต่อ
"กลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าได้พยายามรณรงค์เรื่องนี้ ซึ่งทางชมรมเภสัชชนบท ได้ขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาสังคม เพราะยารักษาอาการซึมเศร้าหลายตัวราคาสูงมาก หากสามารถบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ดีขึ้น และบางรายอาจจะเปิดใจในการเข้ารับการบำบัดรักษาด้วย" ภก.สุภนัย กล่าว
- 171 views