สภาเภสัชกรรม จับมือ BDI เชื่อมข้อมูลสุขภาพยืนยันตัวตน “เภสัชกร” การันตีถูกต้องตามวิชาชีพ พร้อมขยายวิชาชีพอื่นๆ สภาเทคนิคการแพทย์ ส่วนกรณีแพทยสภาฟ้องศาลปกครองปมร้านยาจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ยืนยันไม่กระทบระบบ Health Link
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมสภาเภสัชกรรม อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI โดยรศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมด้วย รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Information Exchange: HIE) โดยมีนายสุธี อุไรวิชัยกุล รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ และ รศ. ภญ. สุณี เลิศสินอุดม เหรัญญิกสภาเภสัชกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อํานวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า การลงนามระหว่างสภาเภสัชกรรม กับ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ในครั้งนี้ ถือเป็นการเชื่อมโยงบริการระบบยืนยันตัวตนเภสัชกร จากเดิมจะมีการเชื่อมข้อมูลเพียงแพทย์ แต่เมื่อมีการดำเนินการผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ จึงขยายมายังวิชาชีพ “เภสัชกร” โดยระบบ Health Link จะทำให้เภสัชกรสามารถระบุ พิสูจน์ และยืนยันตัวตนในการเข้าถึงประวัติการรักษาพยาบาล โดยครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่เชื่อมข้อมูลตรงจากสภาเภสัชกรรมโดยตรง ทำให้สามารถเชื่อมถึงเภสัชกรทั้งหมดทั้งประเทศ รวมถึงเภสัชฯในรพ. เภสัชฯร้านยา เป็นต้น
“ คาดว่าจะรันระบบนี้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และจะขยายไปยังวิชาชีพอี่นๆในเรื่องการยืนยันตัวตนด้วย ซึ่งเดิมเรามีการหารือทำงานร่วมกันกับแพทยสภา ทันตแพทยสภา และในอนาคตจะมีสภาเทคนิคการแพทย์ และสภาวิชาชีพอื่นๆ ที่อยู่ในหน่วยบริการนวัตกรรมของสปสช. หรือหน่วยบริการปฐมภูมิ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีหน้า” ผอ. สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าว
เมื่อถามว่าระบบนี้จะเชื่อมโยงระบบของกระทรวงสาธารณสุขด้วยหรือไม่ รศ.ดร.ธีรณี กล่าวว่า ลักษณะการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นเรื่องประวัติการรักษาของผู้ป่วย แต่ในลักษณะยืนยันตัวตนผ่าน Health Link ไม่มี แต่ของกระทรวงสาธารณสุข จะเป็น Provider ID
ด้าน รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การยืนยันตัวตนของเภสัชกร จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริหาร ว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจริง เป็นการป้องกันข้อมูลของผู้ป่วยไม่ให้รั่วไหลได้ เพราะเภสัชกรต้องเข้าถึงข้อมูลคนไข้ ดังนั้น เมื่อมีระบบนี้ก็จะทำให้ทราบว่า คนที่เข้ามามีตัวตัวเป็นวิชาชีพจริง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็มีข้อมูลเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว เพียงแต่ระบบนี้จะทำให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า หากเภสัชกรไม่ต่อทะเบียนวิชาชีพจะทราบด้วยหรือไม่ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า ทราบ เนื่องจากระบบจะเห็นข้อมูลเภสัชกรว่า มีการต่อทะเบียนวิชาชีพถูกต้องทุก 5 ปีหรือไม่ หากไม่ต่อทะเบียนก็ไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเภสัชกร 5 หมื่นคน ทำให้สามารถทราบได้ว่า เภสัชกรที่เข้ามาในระบบได้ผ่านการรับรอง มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง
เมื่อถามว่าการเชื่อมโยงข้อมูลตรงนี้จะสอดคล้องกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่หรือไม่ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า เป็นฐานสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ อย่างเรื่องร้านยาที่ต้องจ่ายยาตามอาการทั้ง 16 อาการเบื้องต้น และล่าสุดขยายเป็น 32 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งหากเภสัชกร เข้าระบบยืนยันตัวตนได้ และเข้าไปเห็นข้อมูลประวัติคนไข้ก็จะแนะนำได้ถูกต้องเหมาะสม
สภาเภสัชฯ เชื่อปมจ่ายยา 16 อาการ ไม่กระทบระบบ
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่มีการเดินหน้าระบบดังกล่าว ขณะเดียวกันแพทยสภาฟ้องศาลปกครองเรื่องร้านยาจ่ายยา 16 อาการ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระบุว่าดำเนินการได้ และทางสภาเภสัชกรรมยืนยันว่าร้านยาดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วิชาชีพเวชกรรม และพ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ ซึ่งการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพตามกฎหมายของตัวเอง
“นี่คือการบริการพื้นฐานดั้งเดิมของเรา เวลาประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ได้ต้องการไปรพ. แต่ไปร้านยา ซึ่งตรงนี้เป็นการยืนยันว่า เป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อยใช่หรือไม่ หากดูแลได้ ก็ทำตามกฎหมายของเรา แต่หากไม่ใช่ก็ส่งต่อแพทย์ ถือเป็นการคัดกรองให้แพทย์อีกที” รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าว
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สภาเภสัชกรรม ขออย่าแพร่ข้อมูลผิดกฎหมาย PDPA ปมจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย)
- 39 views