ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 67 ชี้คนไทยมีหนี้เฉลี่ยกว่า 6 แสนบาทต่อครัวเรือน วัยทำงานแบกภาระครอบครัว รายได้ไม่พอกับรายจ่าย 14% ค่าครองชีพสูงขึ้น 12% สศช.-สสส.-ภาคี ขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว หนุนแก้ 4 มิติ สร้างสังคมเอื้อต่อการมีลูก    

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน จัดเวทีประชุมสนทนาเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว เพื่อร่วมกันหาแนวทางขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัวในภาคเอกชน สนับสนุนครอบครัวซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศ ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว (Family-friendly policies) เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว (พ.ศ. 2565-2580) ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างและคุณลักษณะของประชากร ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาประชากรไปสู่การ “เกิดดี อยู่ดี และแก่ดี” โดยเฉพาะการเกิดดี ที่มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงดูบุตร  

อีกทั้ง ยังเป็นแนวทางสำคัญในมติเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 โดยสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและดูแลบุตรใน 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านเวลา มิติด้านการเงิน มิติระบบสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร และมิติด้านกฎหมาย โดยที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการดำเนินนโยบาย อาทิ การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี 600 บาท/เดือน/คน ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย การปรับกฎหมายเพื่อให้สิทธิวันลาคลอดมารดา (maternity leave) สูงสุด 98 วัน สิทธิประโยชน์เรื่องการมีบุตรของประกันสังคม การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก อีกทั้ง ยังมีภาคเอกชนร่วมส่งเสริมให้มีนโยบายการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ เช่น อนุญาตให้พนักงานลาคลอดได้ถึง 6 เดือน การปรับเวลาการทำงานของพ่อแม่ให้มีความยืดหยุ่นในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายครอบครัว

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินในระดับนานาชาติในรายงาน Women, Business and the Law 2020 พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนด้านความเป็นพ่อแม่ (parenthood) ต่ำที่สุด ซึ่งได้คะแนนเพียง 20 คะแนนจาก 100 คะแนน เนื่องจากกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร/สนับสนุนพ่อแม่ให้มีเวลาได้อยู่กับบุตร ประกอบกับระบบสนับสนุนต่างๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่ยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอ

“การประชุมสนทนาเชิงนโยบายในวันนี้ จึงเป็นโอกาสให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกับ สศช. และ สสส. ได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมการดำเนินโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัวและการปลดล็อกปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ โดยเฉพาะในสถานประกอบการ โดยที่ผ่านมาจากการที่ สสส. ได้มีการดำเนินงานร่วมกับบริษัทเอกชนภายใต้เครือข่าย FFW ก็จะเป็นบทเรียนสำคัญในการก้าวต่อไป เพื่อสนับสนุนให้มีการสร้างสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการที่เอื้อให้ครอบครัวมีเวลาพัฒนาและเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเหมาะสม ช่วยยกระดับความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว มุ่งสู่เป้าหมายในการสนับสนุนให้เด็กมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ” น.ส.วรวรรณ กล่าว 

ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย จากเกิดใหม่ปีละหลักล้านคน เหลือเพียงปีละ 5 แสนคน ส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวยากจน กระทบต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก สสส. ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาวะที่ดี พัฒนาการสมวัย มีภูมิคุ้มกันในตัวเองต่อความเสี่ยงทางสุขภาพ และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ผ่านปัจจัยหนุนเสริมสำคัญ คือครอบครัว จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบข้อสังเกตสำคัญว่า การออกแบบสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัวควรต้องคำนึงถึงสภาพปัญหาที่พนักงานเผชิญด้วย โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความเข้มแข็งของครอบครัวและการตัดสินใจมีบุตร 

จากผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบคนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 65 สูงถึง 47,000 บาท สาเหตุจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย 14% ค่าครองชีพสูงขึ้น 12% ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 11.2% สสส.จึงร่วมกับ สศช. พัฒนานโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและดูแลบุตรของพนักงาน/ลูกจ้าง ผ่าน 4 มิติ 

1.เวลา ส่งเสริมให้เกิดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นสำหรับพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก เพิ่มสิทธิการลาเพื่อดูแลบุตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้ พนักงานชายสามารถลาเพื่อดูแลครอบครัวได้ 

2.การเงิน ศึกษาความเป็นไปได้ของการให้เงินอุดหนุนค่าคลอดบุตร และการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดรายเดือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่มือใหม่ 

3.ระบบสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร พัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยา 

4.กฎหมาย ผลักดันกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างครอบครัวสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกฎหมายที่อนุญาตให้ครอบครัว LGBTQ+ สามารถจดทะเบียนสมรสและรับอุปการะบุตรได้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญ และการกำหนดให้การมีบุตรยากเป็นโรคและสามารถใช้สิทธิรักษาได้