วันนี้ (18 สิงหาคม 2565) นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานประกาศขับเคลื่อนเกณฑ์ประเมินภาวะโภชนาการวัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยใช้ดัชนีมวลกาย ร่วมกับรอบเอวปกติต้องไม่เกินส่วนสูงหารสอง ณ บริเวณโถงชั้นล่าง อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว แต่การจะทำให้ประชาชนก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยคุณภาพนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการส่งเสริมสุขภาพ ตั้งแต่วัยทำงานจนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ ให้มีสุขภาพที่ดี ด้วยการประเมินและเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงก่อนที่จะเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ การดำรงชีวิตในวัยสูงอายุ และข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557-2558 พบว่า สัดส่วนประชากรที่มีค่าดัชนีมวลกาย อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีรอบเอวเกิน เมื่อใช้เกณฑ์รอบเอวปกติน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง เท่ากับร้อยละ 4.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่มีดัชนีมวลกายปกติ ก็มีรอบเอวเกินได้ ดังนั้น การประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนได้ทั้งหมด
“กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดเกณฑ์การประเมินและเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ เพื่อส่งเสริมให้คนวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีภาวะโภชนาการดี และสุขภาพดี พร้อมทั้งขับเคลื่อนการใช้เกณฑ์การประเมิน 2 เกณฑ์ คือ 1) ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และ 2) ค่ารอบเอวปกติไม่เกินส่วนสูงหารสอง ซึ่งจะสามารถบ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชียที่อยู่ในวัยทำงานและผู้สูงอายุยังคงใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือ ค่าปกติอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนเกณฑ์รอบเอวจะใช้รอบเอวปกติต้องไม่เกินส่วนสูงของตนเองหารด้วยสอง โดยใช้ร่วมกันทั้งคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย และภาคีเครือข่าย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์การประเมินภาวะโภชนาการของคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถใช้ประเมินตนเอง ให้รู้ภาวะสุขภาพ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น และขับเคลื่อนเกณฑ์ประเมินภาวะโภชนาการวัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยใช้ดัชนีมวลกายร่วมกับรอบเอวต้องไม่เกินส่วนสูงหารสอง เพื่อสร้างมาตรฐานในการประเมินภาวะสุขภาพในเบื้องต้น สำหรับผู้ปฏิบัติงานในสถานบริการสาธารณสุข และประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง
“ทั้งนี้ กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่ต้องการลดอ้วน ลดพุงสามารถดูแลสุขภาพตนเองด้วยการกินอาหารให้ตรงเวลามีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ในสัดส่วน 2:1:1 คือ ผักหลากสี 2 ส่วน เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน ข้าว แป้ง 1 ส่วน ลดการกินอาหารประเภท หวาน มัน เค็ม ชา กาแฟ ขนมเบเกอรี ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน และออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน และทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เซ็ง ไม่เครียด ไม่คิดฟุ้งซ่าน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี และป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 401 views