"สมศักดิ์” คิกออฟ สงขลา จังหวัดแรก ขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก่อนขยายทั่วประเทศ ให้ความรู้ มุ่งเน้นกลไก อสม. กว่า 1.08 ล้านคน เป็นหมอคนที่ 1 ให้ความรู้ประชาชน ทั้งการกิน นับคาร์บ ลดไขมัน เพิ่มโปรตีน ลดโรคเอ็นซีดี ขณะที่รพ.สต. หมอคนที่ 2 และสาธารณสุขอำเภอหมอคนที่ 3 ร่วมสร้างความเข้าใจ ตั้งเป้า 3-6 เดือนทำให้เห็นผล
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา จ.สงขลา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) โดยมีผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม. ประชาชนทั่วไป ร่วมงานกว่า 2,000 คน
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease : NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคไตเรื้อรัง เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก มีความเครียดสูง เป็นต้น ทำให้เกิดความสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท จากค่ารักษาพยาบาลทางตรงและความสูญเสียทางอ้อม
โดยข้อมูลปี 2560 ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค NCDs สูงกว่า 62,138 ล้านบาท และมีคนไทยต้องเสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหา โดยผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและแนวคิดวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา
“วันนี้เป็นการคิกออฟขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคติดต่อไม่เรื้อรัง(NCDs) ที่ภาคใต้ ในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและประเทศ” นายสมศักดิ์ กล่าว
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า คนไทยเป็นโรคเอ็นซีดีสูงถึง 33 ล้านคน ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ไต สุขภาพจิต เสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละกว่า 4 แสนคน ที่ผ่านมากว่า 20 ปีมีการรณรงค์ลดบริโภคหวาน มัน เค็ม แต่ยังมีผู้ป่วยโรค NCDs เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเรารู้แต่ปฏิบัติไม่ถูก โดยเฉพาะการกินหวานคิดว่ามาจากน้ำตาลอย่าเดียว ทั้งที่การกินแป้งโดยเฉพาะข้าวที่กินมากก็เปลี่ยนเป็นกลูโคสหรือน้ำตาลดูดซึมเข้าเส้นเลือดทำให้ชำรุดเสียหายก่อโรค NCDs ดังนั้นทำอย่างไรให้ประชาชนกินเป็น ไม่ป่วย โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่กว่า 1.08 ล้านคนซึ่งถือเป็นหมอคนที่ 1 ต้องอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการกิน นับคาร์บ ลดไขมัน เพิ่มโปรตีน เพื่อนำไปสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหมอคนที่ 2 และสาธารณสุขอำเภอหมอคนที่ 3 ก็ต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจ ตั้งเป้าภายใน 3-6 เดือนจะต้องทำให้เห็นผล
“ผมกับรมช.สธ.จะเดินสายรณรงค์เรื่องนี้ไปทั่วประเทศ เชื่อว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้และเหลือ นำสมทบเข้าสู่กองทุนอสม.” นายสมศักดิ์กล่าวและว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.อสม.พ.ศ.... อยู่ระหว่างเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งยังติดปัญหาประเด็นการให้มีกองทุนอสม.ที่ระบุให้นำเงินจากการยึดทรัพย์ผู้ต้องหายาเสพติดที่ไม่มีผู้แจ้งเบาแสสัดส่วน 5% สมทบเข้ากองทุน คงต้องทำความเข้าใจเพื่อผลักดันต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
ร่างพรบ.แยกตัวออกจาก ก.พ. ติดประเด็นงบประมาณ
ส่วนร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขพ.ศ... มีประเด็นเรื่องงบประมาณ และการทำความเข้าใจกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แนวโน้มน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของครม.สัปดาห์หน้าหรือถัดไป
ด้านนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 11-12 ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ วิถีชีวิตของคนภาคใต้นิยมรับประทานอาหารรสจัดจ้านซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรค NCDs จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องร่วมกันส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนเพื่อการมีสุขภาพดีลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDsที่สามารถป้องกันได้
สำหรับ กิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs จะจัดขึ้น 6 ครั้ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค เริ่มครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ คือ เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 รวม 14 จังหวัด ซึ่งสถานการณ์โรค NCDs ในเขตสุขภาพที่ 11 ยังมีอัตราการป่วยตายและผู้ป่วยรายใหม่ โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเขตสุขภาพที่ 12 ที่พบว่าผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไตวายเรื้อรังรายใหม่ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 มีอัตราผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสูงกว่าระดับประเทศ รวมมูลค่ายาที่ใช้รักษาถึง 707 ล้านบาท สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เวทีเสวนาวิชาการ “ก้าวต่อไปเพื่อคนไทยห่างไกล NCDS” และบูธนิทรรศการความรู้เรื่อง NCDs
- 382 views