ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รพ.โพธาราม เผย 3 โรคเอ็นซีดีพบบ่อย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ชี้มีพัฒนาการบริการตามแนวทาง SAP ยกระดับเป็น A+ ให้บริการหลากหลายสาขา ดูแลผู้ป่วยโรคไตอย่างครบวงจร ทั้งก่อนและหลังบำบัดทดแทนไต พร้อมเตรียมสร้างศูนย์ธรรมชาติบำบัด   

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่โรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี โดยมี พญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี นพ.สิริ สิริจงวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ

นพ.โอภาส กล่าวว่า โรงพยาบาลโพธาราม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 340 เตียง ดูแลประชากรประมาณ 135,227 คน โรคที่พบมาก 3 อันดับแรก เป็นกลุ่มโรค NCDs ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไตเรื้อรัง มีการพัฒนาศักยภาพตามแนวทาง SAP จากระดับ A เป็น A+ มีแพทย์สาขาหลักครบทุกสาขา และสาขารอง ได้แก่ หู คอ จมูก, จักษุ, หัวใจ, ไต, อายุรกรรมประสาท, อายุรกรรมทางเดินอาหาร และเวชศาสตร์ฟื้นฟู สามารถให้บริการเฉพาะด้านที่หลากหลาย อาทิ ศูนย์ส่องกล้อง ศูนย์นิทรา ศูนย์ผ่าตัดวันเดียวกลับและผ่าตัดแผลเล็ก เป็นต้น 

ในส่วนของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้จัดระบบบริการครบวงจรด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ ทั้งก่อนและหลังบำบัดทดแทนไต โดยหน่วยไตเทียม 1 ซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาล ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกรณีวิกฤติฉุกเฉินและฟอกเลือดเรื้อรัง จำนวน 18 เตียง สามารถทำหัตถการใส่สายสวนหลอดเลือดดำชนิดสองท่อเพื่อฟอกเลือด การกรองพลาสมา (Plasmapheresis) และการฟอกเลือดแบบต่อเนื่อง (Continuous Renal Replacement : CRRT) และหน่วยไตเทียม 2 ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉพาะผู้ป่วยฟอกเลือดเรื้อรัง จำนวน 12 เตียง นอกจากนี้ ยังพัฒนาการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงและดำแบบวันเดียวกลับ ช่วยลดการเลื่อนนัดผ่าตัดเนื่องจากความไม่พร้อมของผู้ป่วย

ด้าน นพ.สิริ กล่าวว่า โรงพยาบาลยังมีแผนจัดตั้งศูนย์ธรรมชาติบำบัด บนพื้นที่ 38 ไร่ ซึ่งได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน โรงเรียนและชุมชน ในการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเอง ประหยัด ปลอดภัย เรียบง่าย ได้ผลเร็ว ตามแนวทาง "การแพทย์พอเพียง" ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาครัฐ ตลอดจนจะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ 

นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ทำการเกษตรไร้สารพิษ ปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ ส่งให้กับโรงครัวของโรงพยาบาลประกอบอาหารผู้ป่วย และเป็นแหล่งผลิตแก๊สชีวภาพ โรงปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งผลิตวัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อการดูแลรักษาทางด้านการแพทย์พอเพียง ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ในการดูแลสุขภาพพึ่งตน/เศรษฐกิจพึ่งตน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงฯ อย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างอาคารฟื้นฟูสภาพ (กายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย) และจะขยายอาคารตรวจรักษาและส่งเสริมสุขภาพ อาคารเอนกประสงค์และอาคารพักฟื้นผู้ป่วยระยะยาวเพิ่มเติมต่อไป