เทศกาลกินเจ 2566 สสส. สานพลัง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ชวนกินเจวิถีใหม่ ปลอดภัย ห่างไกลโรค NCDs ห่วง เด็กรุ่นใหม่เป็นโรคไตไวขึ้น แนะกินสูตร 4 เลือก 4 เลี่ยง พร้อมเช็กพฤติกรรม-อาการส่อติดเค็ม 5 ระดับผ่านออนไลน์ https://sodiumquiz.lowsaltthai.com

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล ละเว้นเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ แต่เนื่องจากอาหารเจส่วนมากมีรสหวาน มัน เค็มจัด องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกายคือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมหรือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน ข้อมูลปริมาณการบริโภคโซเดียม ปี 2562-2565 พบคนไทยบริโภคโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานเกือบ 2 เท่า ล่าสุด พบคนรุ่นใหม่ อายุ 17-24 ปี บริโภคโซเดียมเกินถึง 3,194 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือดเร็วขึ้น

“กินเจวิถีใหม่ ห่างไกลโรค NCDs ควรเลือกรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ และเลือกรับประทานอาหารเจเน้นผักมากกว่าแป้งและของทอด คำนึงถึงความสะอาด ล้างมือก่อนและหลังปรุงอาหาร สสส. และภาคีเครือข่าย ขอร่วมสืบสานประเพณีเทศกาลกินเจ สร้างบุญสร้างกุศล เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สร้างสมดุลให้ร่างกาย และมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพื่อให้การกินเจปีนี้ได้ทั้งบุญได้ทั้งสุขภาพ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยมีพฤติกรรมติดเค็มตั้งแต่อายุยังน้อย ช่วงเทศกาลกินเจ หลายคนนิยมเลือกอาหารเจแบบแช่แข็งและกึ่งสำเร็จรูป เพราะหาซื้อได้สะดวก ผลสำรวจกลุ่มอาหารแช่แข็ง 53 รายการ พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยสูง 890 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 300 รายการ เช่น บะหมี่ โจ๊ก ซุปกึ่งสำเร็จรูป มีโซเดียมเฉลี่ยสูง 1,240 มิลลิกรัม ส่งผลกระทบให้เกิด 6 สัญญาณเตือนสุขภาพ 1.ใบหน้า ใต้ตา มือ เท้าบวม 2. กระหายน้ำ 3..ท้องอืด 4.น้ำหนักขึ้นเร็ว  5.เหนื่อยง่าย 6.ความดันโลหิตสูง

“โซเดียมมอยู่ในองค์ประกอบของอาหารแทบทุกชนิด มีโซเดียมที่เกิดจากการใช้เกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ผสมในอาหารหรือใช้ถนอมอาหาร หรือจากโซเดียมแฝงในเครื่องปรุงรสหรือส่วนผสมของอาหาร เช่น ผงฟู (โซเดียมไบคาบอเนต) ในขนมปัง จึงควรหันมาสนใจลดการกินโซเดียม เพื่อสุขภาพที่ดีของไตและร่างกาย กินเจ “ลดเค็ม เลือกได้” ใช้สูตร 4 เลือก 4 เลี่ยง 1.เลือกกินผักสดและหลากหลาย 2.เลือกสั่งเค็มน้อย ไม่ใส่ผงชูรส 3.เลือกไม่ปรุงเพิ่ม 4.เลือกอาหารแช่แข็งที่มีฉลากโภชนาการทางเลือกสุขภาพ และต้องหลีกเลี่ยง 1.เลี่ยงซดน้ำซุป 2.เลี่ยงอาหารแปรรูป กึ่งสำเร็จรูป 3.เลี่ยงอาหารหมักดอง 4.เลี่ยงขนมกรุบกรอบ ทั้งนี้ สามารถทดสอบพฤติกรรมติดเค็ม 5 ระดับ พร้อมแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดเค็มได้ที่เว็บไซต์ https://sodiumquiz.lowsaltthai.comรศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะหลักการดูแลสุขภาพกาย-ใจ ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org