สธ.ชี้ผู้สูงอายุควรได้รับสารอาหารครบถ้วน เน้นปรุงสุกจากการต้ม นึ่ง ยำ อบ ตุ๋น หรือลวก หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เลือกอาหารที่หลากหลาย ป้องกันการขาด โปรตีน วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก แคลเซียม และแร่ธาตุสังกะสี
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรับประทานเจ คือ การงดรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสัตว์ เป็นการสร้างบุญสร้างกุศล อย่างไรก็ตาม การรับประทานเจอาจทำให้ขาดสารอาหารโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ส่วนมากรับประทานน้อย และมักมีน้ำหนักตัวน้อยอยู่เดิม ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวน้อย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหาร รวมไปถึงมวลกล้ามเนื้อพร่อง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ และความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม
การที่ผู้สูงอายุไม่กินเนื้อสัตว์อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุขาดโปรตีน วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก แคลเซียม และแร่ธาตุสังกะสี ทว่ากรณีที่รับประทานเจในระยะสั้นอย่างเทศกาลเจ ยังไม่ส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรได้รับสารอาหารครบถ้วน รับประทานอาหารหลากหลาย และมีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่พอเหมาะถูกหลักโภชนาการเพื่อให้ได้บุญและสุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน
พญ.บุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุสามารถการรับประทานอาหารในเทศกาลเจเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีควบคู่ไปด้วยได้ ดังนี้
1) เน้นรับประทานอาหารเจปรุงสุกจากการต้ม นึ่ง ยำ อบ ตุ๋น หรือลวก หลีกเลี่ยงอาหารทอด ย่าง หรือผัด
2) การหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ผักดอง กานาฉ่าย โปรตีนเกษตร เนื่องจากมีโซเดียมสูง อันเป็นเหตุให้ไตทำงานหนัก และทำให้ความดันโลหิตสูงได้
3) การรับประทานอาหารหลากหลาย และมีสารอาหารทดแทนสารอาหารจากเนื้อสัตว์ เช่น โปรตีนได้จากเต้าหู้ ถั่ว และธัญพืช แคลเซียมได้จากผักคะน้า ผักโขม บร็อคโคลี่ งา และนมถั่วเหลือง แร่ธาตุสังกะสีได้จากถั่ว ธัญพืชเต็มเมล็ด ธาตุเหล็กได้จากผักใบเขียว ธัญพืช และข้าวโอ๊ต ร่วมกับแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงร่วมด้วยเพื่อเพิ่มการดูซึมธาตุเหล็ก และสุดท้ายวิตามินบี 12 ที่มักพบในเนื้อสัตว์เป็นหลักสามารถแทนได้จากนมถั่วเหลือง หรือธัญญาหาร (Cereal) ที่เสริมวิตามินบี 12
หากผู้สูงอายุท่านใด มีปัญหาน้ำหนักตัวน้อย เพื่อลดความเสี่ยงภาวะขาดสารอาหาร หรือมวลกล้ามเนื้อพร่อง แนะนำพบแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อปรึกษาเพิ่มเติม
- 545 views