มูลนิธิเพื่อนหญิง พร้อมเครือข่าย ยื่นจดหมายเปิดผนึก นายกฯ ร่วมยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง กวาดล้างยาเสพติด ควบคุมการขายเหล้า ขจัดปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงในครอบครัว 

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อนหญิง พร้อมเครือข่าย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรีหญิง แพทองธาร ชินวัตร เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ภายใต้แนวคิด “ผู้หญิง ส่งเสียงดังดัง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ” โดยระบุว่า 

ด้วยมูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายสตรี 4 ภาค เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น เห็นว่าทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี ได้กำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ขอเรียกร้องต่อ นายกรัฐมนตรีหญิง แพทองธาร ชินวัตร ร่วมยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง กวาดล้างยาเสพติดทุกชนิด หยุดร่าง พ.ร.บ. สถานบริการแบบคอมเพล็กซ์ ควบคุมการขายเหล้า ขจัดปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงในครอบครัว ยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน

จากรายงานผลการถอดบทเรียนของโครงการส่งเสริมบทบาท อำเภอ ท้องถิ่น ในการป้องกันแก้ไขความรุนแรงและสุขภาวะผู้หญิง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้หญิง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา อุบลราชธานี และน่าน จำนวน 399 คน และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการคุ้มครอง ป้องกัน ช่วยเหลือเด็ก สตรี และครอบครัว จากความรุนแรง ทั้งระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด จำนวน 135 คน มี ‘สถานการณ์และรูปแบบ’ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ครอบครัวในชุมชน ท้องถิ่น ดังนี้

หนึ่ง รูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้น ร้อยละ 87 เป็นความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ และ การละเมิดทางเพศ จากคนในครอบครัว และมีการถูกทำร้ายแบบซ้ำๆ ต่อเนื่อง แม้เคยไปแจ้งความหลายครั้ง ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องเพราะตำรวจเพียงได้แต่ลงบันทึกประจำวัน เว้นแต่เมื่อเป็นข่าวแล้วตำรวจจึงจะทำงาน หลายกรณีผู้เสียหายไม่อยากเป็นข่าว ร้อยละ 64 ครอบครัวเลิกลาทิ้งร้าง ต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวใหม่ ทิ้งให้เด็กอยู่กับผู้สูงอายุหรือญาติ เด็กจึงไม่ได้รับการดูแลทำให้ถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง

สอง อะไรทำให้ เด็ก ผู้หญิง ยังถูกทำร้ายอย่างซ้ำชากต่อเนื่อง และบางรายถึงแก่บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต ทั้งที่ไปร้องขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ จากรายงานถอดบทเรียน พบว่า ร้อยละ 85 สะท้อนว่า เจ้าหน้าที่มองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เมื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง เมื่อกลับถึงบ้านมักจะโดนทำร้ายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเด็ก สตรี มีความกลัวไม่กล้า เพราะผู้กระทำฯ จะขู่ฆ่า และถ้าแจ้งความจะทำร้ายพ่อแม่ ทำให้ผู้ถูกกระทำฯต้องยอมจำนน ร้อยละ 45 บอกว่า แม้จะพาลูกหนีไป แต่ผู้ชายก็ติดตามไปคุกคามทำร้ายไม่มีใครกล้าช่วยโดยเฉพาะในรายที่ติดยาเสพติด หรือ ดื่มเหล้าเรื้อรัง ก็มักใช้ความรุนแรงถึงขั้นคนในครอบครัวเสียชีวิต

ข้อเสนอของรายงานการถอดบทเรียน ดังนี้

1. รัฐควรแก้ไข ในเชิงกลไกที่กฎหมายมี และให้อำนาจในการทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง รักษา เยียวยา และรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง โดยร้อยละ 90 เสนอให้ กลไกของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานใกล้ชิดกับชุมชน ควรสร้างกลไกที่ทำหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพ โดยเฉพาะการเข้าไปควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงคุ้มครองคนในครอบครัวได้แบบทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดเหตุ ควรต้องบังคับผู้ใช้ความรุนแรงให้รับการบำบัดทางจิต ทั้งนี้ ยังไม่มีกลไกเหล่านี้ในชุมชน ทำให้ผู้ใช้ความรุนแรงกลับมาทำร้ายคนในครอบครัวซ้ำแล้วซ้ำอีก

2. รัฐบาลต้องกำหนดให้ กระท่อม กัญชา หรือสารเสพติดต่างๆ เป็นยาเสพติดต้องห้าม และให้มีการควบคุมปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาดจริงจัง โดยเฉพาะการใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัดเพราะมีส่วนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและมีผลต่อเด็กเยาวชน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน

3. เจ้าหน้าที่กลไกระดับพื้นที่ ฝ่ายปกครอง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรท้องถิ่น นายก ปลัด อบต. จำนวน 153 คน ร้อยละ 90 ต่างยอมรับว่า ยังมองการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว และอาจจะขาดทักษะ ไม่มีทีมงานที่ชัดเจน ขาดผู้จัดการรายกรณีในการติดตามประเมินผลและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในการเข้าไปจัดการเวลาเกิดเหตุและมองว่า เป็นสามี ภรรยา เดี๋ยวก็คืนดีกันกลับไปกลับมาจัดการยาก อีกทั้งหน่วยงานในพื้นที่มีภารกิจหลายอย่าง เรื่องนี้จึงอาจถูกละเลย ข้อเสนออยากให้ส่วนกลางกำหนดเป็นนโยบาย มีการอบรมทักษะในการจัดการ มีกลไกและตัวบุคคลรับผิดชอบงาน มีงบประมาณรองรับให้ชัดเจน

เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นี้ มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายสตรี 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นฯ ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ครอบครัว ชุมชน ในทุกรูปแบบ จึงขอเรียกร้องผ่านจดหมายเปิดผนึกฯ ต่อท่านนายกรัฐมนตรีหญิงฯ ได้เร่งแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรม สูญเสียในชีวิต ทรัพย์สิน และความสงบสุขทั้งตนเอง ครอบครัว และชุมชน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อเสนอผ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้
                                                 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
        
น.ส.ธนวดี ท่าจีน 
ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง และผู้ประสานงานเครือข่ายเด็ก สตรี และครอบครัว