ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ รณรงค์ประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง 69% ยอมรับถูกกระทำนับครั้งไม่ถ้วนจึงขอความช่วยเหลือ 79% อยู่ในภาวะโรคซึมเศร้า 37% มีภาวะหวาดผวา วงเสวนา “เปลี่ยนความสะเทือนใจ...จากละคร ในวันที่ฝนพร่างพราย เป็นพลังหยุดความรุนแรงในครอบครัว” ชื่นชมละครสะท้อนสังคม ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่โรงแรมทีเค พาเลซ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) จัดเสวนา “เปลี่ยนความสะเทือนใจ...จากละคร ในวันที่ฝนพร่างพราย เป็นพลังหยุดความรุนแรงในครอบครัว” เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมได้ตระหนักถึงผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และทางเลือกในการแก้ปัญหา 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวเปิดงาน ว่า ประเทศไทยการเรียนรู้การมองผ่านสื่อยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถใช้ในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรุนแรงในสังคมซึ่งยังคงอยู่ และแนวโน้มไม่ลดลง ด้วยสถานการณ์วิกฤตหลายประเด็นอย่างที่ทราบกันว่า หลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อความมั่นคงทางสังคมทั่วโลก รวมทั้งสถานการณ์ต่อเด็กและผู้หญิง โดยหวังเสมอว่าจะลดลงแต่ก็ยังไม่สามารถลดลงได้ วันนี้จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

"มุมมองจากละครที่สำคัญ คือ ละครช่วยทำให้เข้าใจผู้หญิงที่ตกอยู่ในความรุนแรงได้ อยากให้พวกเรารู้จักบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ ที่ทำงานเป็นกลไกหนึ่งของสังคมในการแก้ปัญหา หวังว่าเวทีในวันนี้จะทำให้พวกเรามีส่วนร่วมกันอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป" พญ.พรรณพิมล กล่าว

สำหรับเวทีเสวนา มีวิทยากรประกอบด้วย ชุดาภา จันทเขตต์ ผู้กำกับละคร ก้อง ปิยะ ผู้จัดละคร มณีรัตน์ คำอ้วน นักแสดงจากละครในวันที่ฝนพร่างพราย กรวิณท์ วรสุข ผู้เชี่ยวชาญงานสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน ตัวแทนอดีตสมาชิกบ้านพักฉุกเฉิน และอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ 

กรวิณท์ กล่าวว่า ในมุมมองของนักสังคมสงเคราะห์ รู้สึกภาคภูมิใจในวิชาชีพของตัวเอง ตนไม่ได้จบมาโดยตรงแต่เรียนรู้ เติบโตและอบรมมาทางด้านวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ซึ่งบ้านบักฉุกเฉินพยายามทำงานเคียงคู่กับผู้หญิงและเด็ก ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทุกรูปแบบ ซึ่งละครเรื่องนี้สะท้อนทุกมุมปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งบ้านพักฉุกเฉินก็เคยเติบโตมาจากปัญหานั้น จะมีเรื่องของปัญหาค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติ ผู้หญิงท้องไม่พร้อม การทำงานขององค์กรเพียงลำพังนั้นไม่สามารถทำได้ ยุคนี้ต้องมีเครือข่าย บ้านพักฉุกเฉินไม่ใช่นางเอกเพียงคนเดียว แต่ยังมีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งทนาย ตำรวจ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรวิชาชีพมาร่วมโอบอุ้มผู้หญิงและทำงานร่วมกัน เพื่อคืนอำนาจให้ผู้หญิงกลับไปใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็วที่สุด 

ส่วนนัท ตัวแทนสมาชิกบ้านพักฉุกเฉิน กล่าวว่า ตนเป็นเหยื่อความรุนแรงคนหนึ่ง ทั้งทุกข์ทั้งเจ็บ เคยเกือบฆ่าตัวตายเพราะไม่ไหวแล้ว แต่ยังมีคนที่ห่วงใยเลยหยุดความคิดนั้นไป ตนถูกกระทำความรุนแรง 2-3 ปี จนตัดสินใจว่าไม่ไหว ถ้าอยู่ก็เจ็บแล้วเจ็บอีก จึงยอมทิ้งลูกและหนีออกมา เพราะไม่อยากตาย เวลานั้นไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายอะไร จากนั้นพยายามติดต่อคนรู้จักพ่อของเด็ก พอช่วยเหลือตัวเองได้แล้วเรากลับตามหาลูกไม่เจอ เหมือนมืด 8 ด้าน และมารู้ว่าผู้ชายมีใหม่และลูกอยู่กับเขา เราขอไปรับลูกแต่เขาไม่ให้ ถูกแจ้งความจับข้อหาบุกรุก จนไปที่มูลนิธิเพื่อนหญิงจึงเอาลูกกลับมาได้ และมาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย ไม่ต้องหวาดกลัวและโดนทำร้ายอีก อย่างไรก็ตามเรื่องของเรายังถือว่าเล็กกว่าอีกหลายคนที่โดนกระทำมา  แต่ทุกคนคอยช่วยเหลือและประคับประคองกัน ตนอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน 6 เดือนก่อนออกมาทำงาน และวันนี้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงเลี้ยงดูลูกได้ ซึ่งขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือตนในช่วงเวลานั้น อยากให้ทุกคนรู้ว่ามีที่นี่เหมือนที่ละครทำ  

ขณะที่อุษา กล่าวว่า อยากใช้โอกาสนี้ในการรณรงค์ประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่ผ่านมาหลายคนมองว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องตึงเครียดอยู่แยกฝั่งกับเรื่องบันเทิงหรือละคร แต่วันนี้เราเอา 2 เรื่องนี้มารวมไว้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งในละครแม่ของพระเอกนางเอกเป็นจุดสำคัญ เวลาเราพูดถึงความรุนแรงก็มาจากรากเหง้าหรือเรื่องของครอบครัว สิ่งที่เราได้เห็นจากละครสะท้อนถึงข้อจำกัดและทางเลือกของผู้หญิงในการแก้ปัญหา ซึ่งตัวอย่างของนัทเป็นคนที่กล้าหาญมากที่หนีออกมาจากความรุนแรงได้ แต่สำหรับผู้หญิงหลาย ๆ คน ในงานวิจัยของเราที่ศึกษาจากผู้หญิงจำนวน 54 คน ซึ่งให้ตอบแบบสอบถามว่า มีสภาพอย่างไร น้อยมากที่จะกล้าออกมาขอความช่วยเหลือ 

ส่วนหนึ่งก็คือร้อยละ 69 ระบุว่าถูกกระทำนับครั้งไม่ถ้วนถึงจะออกมาขอความช่วยเหลือ ดังนั้น อาจต้องดูว่ายังมีผู้หญิงอีกจำนวนเท่าไรที่ยังอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง ที่เราเห็นข่าวพ้นภูเขาน้ำแข็งออกมาในกรณีเสียชีวิต หรือที่ออกมาสู่องค์กรต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างบ้านพักฉุกเฉินปีหนึ่งนั้น มีจำนวน 200 กว่ารายเท่านั้น  ดังนั้น ที่ยังอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ยังมีอีกจำนวนเท่าไร เพราะเสียงที่เรารณรงค์อาจยังไปไม่ถึง 

อุษา กล่าวอีกว่า จากการที่เราศึกษาเสียงจากผู้หญิง สิ่งที่เขาเจอนอกจากสภาพร่างกายแล้ว ร้อยละ 79 ที่ผู้หญิงป่วยอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้า คือมาจากผลของการถูกกระทำและคนกระทำคือคนที่รัก คนในครอบครัว ดังนั้นสถานการณ์ในละครสะท้อนชัดเจนว่าผู้หญิงที่อยู่ในปัญหา เป็นโจทย์ให้ทุกคนต้องคิดหาทางแก้ไข นอกจากนั้นร้อยละ 37 ยังอยู่ในภาวะหวาดผวา และยังมีกรอบความคิดในเรื่องความเป็นผู้หญิงที่ดี ผลการศึกษาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก คือ คนที่มีทะเบียนสมรสร้อยละ 63 มักจะนิ่งเฉยมากกว่าคนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส โดยบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไร  บางคนก็อาจอ้อนวอนให้หยุดใช้ความรุนแรง  

ส่วนที่ไม่มีทะเบียนสมรสนั้น มีร้อยละ 45 ที่นิ่งเฉย ทั้งนี้ 3 ใน 4 ของผู้หญิงที่ให้ข้อมูล ระบุว่าไม่ได้คิดแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือใด หรือมีเพียงร้อยละ 19 ที่ออกมาแจ้งความแต่ก็ไม่ได้เอาเรื่อง ขอแค่ลงบันทึกประจำวันเท่านั้น ส่วนที่ออกมาแจ้งความให้มีการดำเนินคดีนั้นแทบจะไม่มีเลย ในส่วนบ้านพักฉุกเฉินเองก็มีน้อยมากที่จะดำเนินคดีต่อ แต่ขอแค่อยู่อย่างปลอดภัยก็พอ 

อุษา กล่าวต่อว่า ความช่วยเหลือที่ผู้หญิงต้องการนั้น หลายคนก็มักลังเลว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องลิ้นกับฟันหรือไม่ แต่อยากจะบอกว่าสิ่งที่ละครนำเสนอคือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในครอบครัวและนำไปสู่โศกนาฏกรรม ถึงแม้ว่าแม่ของไม้จะไม่ตัดสินใจฆ่าตัวเอง แต่ผู้หญิงหลาย ๆ คนก็ถูกสามีทำร้ายจนเสียชีวิตได้ ดังนั้น เขาต้องการความช่วยเหลือจากตำรวจ จึงขอความกรุณาว่าตำรวจว่าไม่ได้มีหน้าที่ไกล่เกลี่ย แต่มีหน้าที่ในการให้ความปลอดภัยกับประชาชน ต้องแยกคนกระทำและคนถูกกระทำออกจากกัน และสามารถส่งต่อไปให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ ให้ผู้หญิงสามารถทบทวนและตัดสินใจในการดำเนินการต่อไป  

"ตำรวจไม่ได้มีหน้าที่ไปซักถามว่าทำไมถึงถูกทุบตี การซักถามเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าทั้งหมดเป็นความผิดของผู้หญิง และเป็นเรื่องของทัศนคติในสังคมว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะผู้หญิงบกพร่องในการทำหน้าที่ และมาจากรากเหง้าความคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของผู้ชายที่สามารถทุบตีทำร้ายได้ จึงอยากดึงสิ่งที่เกิดขึ้นในละครขึ้นมากระตุ้นเตือนสังคม ทุกคนสามารถให้ความช่วยเหลือและเป็นด่านหน้าในการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับผู้หญิงได้ทั้งสังคมและชุมชน เพื่อไม่ให้ผู้หญิงอยู่ในวังวนความรุนแรง" อุษากล่าว 

ทั้งนี้ พบว่าผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ โดยเฉพาะจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแม้มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้หญิง แต่นโยบายอย่างเดียวไม่เพียงพอ กลไกของรัฐแค่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นกองหนึ่ง ในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพราะไม่มีอำนาจในการประสานความร่วมมือทุกองคาพยพในการจัดการความรุนแรงได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงทุกรูปแบบ ในแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ  แต่บางครั้งได้ยินว่าต้องให้ผู้หญิงไปแจ้งความก่อน เรื่องนี้จึงต้องมีระเบียบปฏิบัติระดับชาติที่ชัดเจน ในงานวิจัยนี้จึงเห็นชัดเลยว่าสิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องการคือต้องมีกลไกระดับชาติที่เข้มแข็งในการทำงานร่วมกันอย่างมีมาตรฐานต่อไป รวมทั้งมีการปฏิรูปบ้านพักฉุกเฉินของรัฐด้วย 

ชวนดู "ในวันที่ฝนพร่างพราย" ละครสะท้อนสังคม เผยให้เห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ก้อง ปิยะ กล่าวว่า ละครในวันที่ฝนพร่างพราย เป็นเรื่องเกี่ยวกับมูลนิธิ เป็นชีวิตจริงที่คนสัมผัสได้ โดยมีการศึกษาหาข้อมูลอย่างแท้จริง เช่น ฉากขึ้นศาล  

ชุดาภา กล่าวว่า ที่ตัดสินใจนำเรื่องนี้ขึ้นมาทำเพราะอ่านนิยายเรื่องในวันที่ฝนพร่างพรายของภาพิมลไปแล้วมันทัชใจที่พระเอก นางเอกติดดิน มีความเป็นมนุษย์ ละครเรื่องนี้มันไปถึงมนุษย์ที่มีปัญหา ตัวละครมีภูมิหลังมีปัญหาของครอบครัว สังคม รู้สึกว่าอยากทำ จึงคุยกับคุณก้อง ปิยะ ซึ่งยุคนี้สังคมอยากเสพอะไรใหม่ ๆ แล้ว บางทีการดึงมุมมองที่เป็นจริงในสังคมออกมาสะท้อนมันก็น่าจะได้รับการตอบรับ ความยาก คือ คนจะมองว่างานลักษณะนี้เป็นละครสะท้อนสังคม ที่คนดูอาจจะน้อย และคนไม่ค่อยอยากจะทำแนวแบบนี้ เพราะหดหู่ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องนี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม มันควรจะมีการหยิบยกเอามานำเสนอบ้าง และนำเสนอย่างไรให้มันมีการกระตุ้นและมีการแก้ไขปัญหา 

"ถ้ามันเกิดแรงกระเพื่อมได้ สังคมก็จะไม่ปล่อยผ่านเรื่องแบบนี้และทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดลง ดีกว่าจะไม่พูดถึงเลย เมื่อเป็นละคร ใส่ความบันเทิงเข้าไปเพื่อทำให้คนดู ดูไหว มีพระนางที่ถึงจะมีภูมิหลังหนักหนาอย่างไร แต่ก็มีความรักเป็นที่ตั้งและฮีลใจคนดูไปได้ ตรงนี้ก็เพิ่มน้ำหนักขึ้นมา นอกเหนือจากในนิยายก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเป็นงานของพระเอก ส่วนงานของนางเอกในนิยายมีชัดเจนอยู่แล้ว อ่านนิยายเรื่องนี้จบรักนักสังคมสังเคราะห์มาก เป็นผู้เสียสละอย่างแท้จริง เพราะต้องทำงานอยู่กับปัญหาทุก ๆ วัน มันคือเรื่องของความทุกข์ทางใจ บาดแผลทางใจ ต้องทำงานอยู่กับปัญหา แต่คนที่ทำงานในด้านนี้ได้ต้องยอมรับว่ามีจิตใจที่เข้มแข็งและแข็งแกร่งมาก" ชุดาภา กล่าว

ด้านมณีรัตน์ กล่าวว่า ความรู้สึกที่รับบทเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ในบทพี่ไหม เป็นความท้าทายมากของความเป็นนักแสดง เพราะต้องทำตัวละครให้ออกมาแข็งแรงให้ได้อย่างที่คิด รวมถึงผู้จัดละคร และผู้กำกับได้วางบทบาทเอาไว้ จึงต้องปรับตัวว่า ต้องแข็งแกร่งจากข้างใน นักสังคมสงเคราะห์ต้องมีความเมตตาและมีความมั่นคงในตัวเองสูงมาก ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ มีวิธีการจัดการทางด้านอารมณ์ให้มั่นคงที่สุดเพื่อรองรับคนที่เขาเดือดร้อน เข้ามาหาเราเพื่อแก้ปัญหา และกล้าที่จะบอกปัญหากับเรา ต้องแสดงออกมาข้างนอกให้ทุกคนเห็นว่าพี่ไหมแข็งแกร่งมาก คนแบบนี้ที่สามารถให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคนอื่นได้ ตั้งแต่เล่นละครเรื่องนี้ทำให้เห็นถึงความทุกข์ของคนอื่น รู้สึกว่าเราไม่ควรเพิ่มทุกข์ให้คนอื่น แต่คิดว่าควรจะช่วยเหลืออย่างไร