สปสช. ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ชูโมเดล  ‘ฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง’  ดึงชุมชน แพทย์ทางเลือกเข้าร่วม เพื่อลดภาระครอบครัวผู้ป่วย ชี้กลไกความสำเร็จเกิดจาก ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคประชาชน เครือข่ายบริการสุขภาพ  รพ.สต. ท้องถิ่น ฯลฯ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. พร้อม สปสช.เขต 1 จ.เชียงใหม่ เดินทางไปโรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา อ.สารภี เพื่อรับฟังสรุปโมเดล "ฟื้นฟูผู้ป่วยก่อนส่งบ้าน" ดึงชุมชน แพทย์ทางเลือกเข้าร่วม เพื่อลดภาระครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงเครือข่ายบริการสุขภาพ ทั้ง รพ.สต. ท้องถิ่น ฯลฯ เดินหน้าขับเคลี่อนร่วมกัน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง มีสิทธิประโยชน์ในการดูแลการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง หรือ IMC โดยเมื่อผู้ป่วยพ้นวิกฤติแล้วหลังจากนั้นไม่เกิน 6 เดือนควรจะได้รับการฟื้นฟู โดยมีทั้งหมด 4 กลุ่ม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) ผู้ป่วยคอกระดูกสะโพกหัก (Fracture neck of femur) ซึ่งเมื่อพ้นวิกฤติไปแล้วมีสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการ 20 ครั้ง โดยใน 20 ครั้งจะเป็นการรับบริการที่โรงพยาบาลก็ได้หรือจะรับบริการที่บ้านก็ได้ 

ทั้งนี้ เมื่อลงพื้นที่มายังโรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา ถือเป็นรูปแบบที่ดีมาก เพราะเป็นการร่วมมือของโรงพยาบาลกับชุมชน โดยคำว่า "บวร" คือ บ้าน วัด และโรงพยาบาล รวมทั้งมีมูลนิธิครูบาน้อย ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อโรงพยาบาลโดยเฉพาะในการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย มีการปรับปรุงสถานที่สำหรับผู้ป่วย IMC โดยเฉพาะ รวมทั้งผู้ป่วยที่พ้นวิกฤติสามารถเข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยในได้  นอกจากนี้ยังมีการอบรมญาติผู้ป่วยหรือมีการสอนวิธีการดูแลที่ถูกต้องเพื่อสามารถนำไปดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้  

“มองว่าหัวใจของความสำเร็จอยู่ที่การมีส่วนร่วม ถ้ามีความร่วมมือแบบนี้ในทุกพื้นที่ผู้ป่วย 4 กลุ่มที่พ้นวิกฤตและเข้าสู่การฟื้นฟูได้เร็ว จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยทั่วประเทศ” ทพ.อรรถพร กล่าว

ด้าน นพ.สมิต ศมพันธุ์พงศ์ ผอ.รพ.สารภี กล่าวว่า  โรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนาเป็นโรงพยาบาลที่ถูกยกระดับให้ดูแลฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย โดยมีหอผู้ป่วยในจำนวน 24 เตียง ในโรงพยาบาลมีการฟื้นฟูสภาพทั้งแบบแพทย์แผนปัจจุบันโดยใช้เทคโนโลยีทากายภาพบำบัด ีที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพสูงในการให้บริการ ประกอบกับมีทั้งการบูรณาการที่มีทั้งแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกแบบแผนจีน ฉะนั้นการที่มีหอผู้ป่วยใน มีการบูรณาการทางการแพทย์หลากหลายสาขา ทำให้ผู้ป่วยระยะกลางฟื้นฟูได้เร็ว

อย่างผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง รพ.มีเป้าหมายในการรักษา คือ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตและได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วภายใน 2 เดือน มีความเชื่อว่าผู้ป่วยจะกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้.. 

นพ.สมิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายศูนย์ซ่อมสร้างในการส่งเสริมอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีส่วนช่วยในการซ่อมบำรุงรถเข็นหรือกายอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถให้คนไข้ยืมกลับไปใช้ในชุมชนได้ เพราะฉะนั้นกลไกในชุมชนมีความสำคัญ มองว่าปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่เครือข่ายทั้ง เทศบาล องค์กรต่างๆ ภาคประชาชนในการดูแลร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดในการดูแลคนไข้ที่บ้านและชุมชน

ขณะที่นพ.ภัทรัตน์ ปานสุวรรณจิตร์  ผอ.รพ.สารภีบวรพัฒนา กล่าวว่า  รูปแบบในการดูแลผู้ป่วยระยะกลางเริ่มตั้งแต่ระยะเฉียบพลัน โดยการคัดกรองในชุมชน 4 กลุ่มโรค จากนั้นทำการส่งต่อไปยังห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสารภี ซึ่งมีการวินิจฉัยในการรักษาให้ได้เต็มที่ หลังจากนั้นประมาณ 7 วันจะส่งต่อมาที่โรงพยาบาลบวรพัฒนา เป้าหมายการดูแลสำหรับคนไข้ 4 กลุ่มโรค คือ ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความสามารถในการดูแลตัวเองให้ใกล้เคียงกับก่อนป่วยได้มากที่สุด โดยกระบวนการบำบัดฟื้นฟูอย่างเข้มข้น โดยทีมสหวิชาชีพมีทั้งนักกายภาพบำบัดวิชาชีพ พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมฟื้นฟู 5 วัน รวมถึงแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ฝังเข็มก็มีส่วนร่วมในการดูแล