สปสช. เตรียมประสาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ - สบส. เพิ่มยาสมุนไพรไทย ดูแลผู้ป่วยบัตรทอง 10 กลุ่มโรค -อาการสำคัญ 32 รายการ เพื่อขับเคลื่อนการใช้สมุนไพรในระบบบัตรทอง ลดใช้ยาแผนปัจจุบัน ตามนโยบายรัฐบาล

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า บอร์ด สปสช. ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็นการสนับสนุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้มีการขยายการใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย โดยในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน ได้พิจารณาและเห็นชอบ “ข้อเสนอการขับเคลื่อนสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยมอบให้ สปสช. ดำเนินการตามข้อเสนอนี้ 
 
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบบัตรทอง สืบเนื่องจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ได้กำหนดนโยบายยกระดับการสาธารณสุขไทย (สธ.) สุขภาพแข็งแรงทุกวัยและเศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง ทั้งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้านการยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อการแพทย์ ในระบบบริการสาธารณสุขรวมถึงข้อเสนอจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ได้เสนอมายัง สปสช. เพื่อขอรับการสนับสนุนการขับเคลื่อนบริการการแพทย์แผนไทยในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เนื่องจากการขับเคลื่อนบริการการแพทย์แผนไทยและการใช้ยาสมุนไพรนับเป็นนโยบายสำคัญของ สธ. จึงได้นำมาสู่ข้อเสนอนี้ 

สำหรับหลักการของการสนับสนุนยาสมุนไพรตามมติบอร์ด สปสช. นี้ จะมุ่งเน้นรายการยาสมุนไพรที่มีศักยภาพ และสามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันสำหรับผู้ป่วย 10 กลุ่มโรคและอาการสำคัญ ประกอบด้วย 1. กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ 2. กลุ่มอาการโควิด-19 ไข้หวัด ไอ เสมหะ 3. กลุ่มอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 4. กลุ่มอาการท้องผูก ริดสีดวงทวารหนัก 

 5. กลุ่มอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน 6. กลุ่มอาการทางผิวหนัง แผล 7. กลุ่มอาการชาจากอัมพฤกษ์ อัมพาต 8. กลุ่มอาการนอนไม่หลับ 9. กลุ่มอาการท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ) และ 10. กลุ่มอาการเบื่ออาหาร รวมทั้งหมดจำนวน 32 รายการ 

นอกจากนี้ยังจะกำหนดการจ่ายชดเชยค่ายาสมุนไพรตามคอร์สการรักษาต่อครั้ง และการพัฒนาศักยภาพให้คลินิกแพทย์แผนไทยของภาคเอกชน ให้สามารถเบิกจ่ายยาสมุนไพรได้ โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานตามที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเสนอ ได้แก่ การเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร อย่างน้อย 10% จากปี 2567 และลดการใช้ยาแผนปัจจุบันในกลุ่มอาการเดียวกันกับการใช้ยาสมุนไพรอย่างน้อย 5%  

“หลังจากมติที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบนี้ ทางสำนักงานฯ จะประสานกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการพัฒนาศักยภาพสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้สามารถจัดบริการนวด อบ ประคบเพื่อการรักษา และสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการอื่นตามมาตรา 3 ในระบบบัตรทอง และให้ สปสช. ออกแบบกลไกบริหารงบประมาณ แหล่งบประมาณ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายชดเชย เสนออนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และกลับมาเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป” ทพ.อรรถพร กล่าว