“หมอโสภณ” สะท้อนบทเรียนโรคระบาด “โควิด19” สู่แนวทางป้องกันในอนาคต แนะกรมควบคุมโรค จัดระบบเครือข่ายพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันโรค หลังรพ.สต.ถ่ายโอนออกจากกระทรวงฯ ทำอย่างไรให้ระบบเครือข่ายยังเข้มแข็งเหมือนเดิม แนะ สสอ.อีกกลไกทำงานเฝ้าระวังเป็นศูนย์กลางระดับอำเภอแต่ละแห่ง

 

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะตัวแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการป้องกันควบคุมโรค(Thailand EOC Network Conference ) ที่ โรงแรมแกรนด์ พาลาสโซ่ พัทยา จ.ชลบุรี   

แนะ สสอ.กลไกสำคัญคุมระบาดในระดับพื้นที่

นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งถึงบทเรียนทรงพลังสู่การขับเคลื่อนภาวะฉุกเฉินที่ยั่งยืน ว่า ขอชื่นชมกรมควบคุมโรคที่มีการทำงานในระดับเครือข่าย ซึ่งสำคัญมาก ยิ่งวันนี้ เมื่อการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ส่วนหนึ่งออกจากกระทรวงฯ จะทำอย่างไรให้เครือข่ายยังคงอยู่ เพื่อให้การดำเนินการป้องกันควบคุมโรคยังดำเนินต่อไป เหมือนสมัยช่วงการระบาดของโควิด19 ดังนั้น ตนมองว่า สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) ต้องเข้มแข็งขึ้น ทำงานคล้ายศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ CDC สหรัฐอเมริกา ที่เป็นศูนย์กลางคอยทำงานช่วยเหลือตามรัฐต่างๆ อย่างประเทศไทย คิดว่า สสอ.จะเป็นส่วนสำคัญ ต้องมีการเซ็ทระบบให้สอบสวนโรคได้ด้วย ไม่เช่นนั้นอนาคตหากเกิดปัญหา ก็จะต้องใช้ แต่สำนักงานป้องกันควบคุมโรค หรือสคร.ภายในจังหวัดคงไม่พอ จึงต้องเตรียมการ อย่าประมาท

“จริงๆ การเซ็ท EOC ไม่ง่าย อย่างเริ่มแรกเหมือน รพ.หนึ่ง ไม่มีห้องฉุกเฉิน แต่วันหนึ่งต้องเอาทุกคนมาเข้าเวร 7 คูณ 24 พวกนักวิชาการ นักระบาด ก็จะเอา แต่จำเป็นต้องทำ ขณะนั้นระดมกำลังกันมาก ปรึกษาหารือกับผู้บริหาร อย่างตอนนั้นมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. เป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าจะอย่างไรดี สรุปคือ EOC เลิกไม่ได้ สุดท้ายจึงเกิดขึ้น โดยต้องมีโครงสร้าง มีทีมเฝ้าระวัง และมีโปรโตคอลว่า เหตุการณ์อะไรบ้างต้องเปิด EOC และต้องเปิดภายใน 2 ชั่วโมง และมีระบบอะไรมารองรับ รวมทั้งการสื่อสาร โดยมีหัวใจของ Situational Awareness และที่สำคัญคือ บุคลากร” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า  เมื่อตนเป็นปลัดสธ.ขณะนั้น ได้ตั้งกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยในการรองรับเมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากหากแค่กรมควบคุมโรค โครงสร้างสั่งการจะไม่เหมือนกัน จึงต้องมีระดับใหญ่ เพื่อให้เกิดการคล่องตัวในการสั่งการมากขึ้น และมีการอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทุกระดับ และเน้นความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะถ้าไม่ปลอดภัย ไม่มีใครทำงาน  

ดังนั้น สถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติการ โดยเฉพาะบุคลากร เมื่อเหตุการณ์โรคระบาด ต้องดึงบุคลากรมาช่วยได้ อย่างระดับแรก ช่วยกันทำสำนักระบาดวิทยา แต่เมื่อระดับมากขึ้นต้องดึงฝ่ายอื่นเข้ามาร่วมกันทำงานให้ได้

บทเรียนจากการป้องกันโควิด19

นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า  บทเรียนในอดีตจากการป้องกันโรคโควิด19 ได้ผล คือ รัฐบาลเอาจริง โครงการกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ระดับกระทรวง โรงพยาบาล ชุมชน อสม.มีการวางระบบที่เข้มแข็ง ประชาชน เครือข่ายทุกคนให้ความร่วมมือ

มีการพัฒนาวัคซีน ชุดป้องกัน PPE ซึ่งสำคัญมาก เป็นเครื่องมือป้องกันบุคลากรในการป้องกันควบคุมโรค ขณะนั้นมีทั้งรัฐและเอกชนมาช่วยกันเรื่องสิ่งทอที่ทำชุด PPE  รวมถึงหน้ากากอนามัยด้วย แต่สุดท้ายก็ไปต่อไม่ไหว เพราะมีเรื่องการตลาด และราคาที่สู้สินค้าจากต่างประเทศไม่ได้ เรื่องระบบข้อมูลต้องพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” อย่างต่อเนื่อง มีระบบการรายงานข้อมูลโรคต่างๆ ที่ทันเหตุการณ์ โดยอาจต้องมีกฎหมายเข้ามากำหนดให้โรงพยาบาลต้องรายงานเคสผู้ป่วยโรคต่างๆ และสร้างเครือข่ายทั้งในและนอก สธ.รวมทั้งต่างประเทศ 

อนาคต ที่ไม่ได้มีแค่โรคระบาด

สำหรับอนาคต ซึ่งไม่ได้มีแค่โรคระบาด ระบบอีโอซีต้องจัดการภาวะฉุกเฉิน ทั้งเรื่องโรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน เช่น หากเกิดภาวะคลื่นความร้อนทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต จะเปิดอีโอซีหรือไม่ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระบบสาธารณสุข ถ้าข้อมูลรั่วต้องเปิดอีโอซีหรือไม่  การขาดแคลนบุคลากร ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองและการอพยพของผู้คน ต้องเปิดอีโอซีหรือไม่ การจัดระบบอีโอซีให้ ดังนั้น ต้องสร้างเครือข่าย จัดโครงสร้างการทำงานแต่ละระดับให้สอดคล้องกัน มีการสั่งการที่ชัดเจนและรวดเร็ว มีแผนบูรณาการทำงานร่วมกัน มีระบบข้อมูลที่จำเป็นต่อการรับมือโรคระบาด เช่น ข้อมูลคนป่วย ระบบการติดตามและควบคุมการระบาด เป็นต้น

อีกทั้ง มีความจำเป็นต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ เพื่อช่วยการคาดการณ์การระบาด พยากรณ์การรักษา วิจัยพัฒนายาและวัคซีน ต้องมีการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน MOPHFinancial Data Hub ให้เป็นศูนย์กลางจัดการข้อมูลของสธ.ทุกด้าน และเป็นระบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์