กรมควบคุมโรค เผย“โควิด19” ภาพรวมคนไข้หนักลดลง ไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อเกือบ 5.5 แสนคน ส่วนไวรัส RSV เสียชีวิต 7 รายยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ต้องย้ำเตือน “โรคไข้เลือดออก” ป่วยสะสมปี 67 รวม 84,434 ราย พบมากสุดในกลุ่มเด็กนักเรียน มีผู้เสียชีวิต 84 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว ส่วนฝีดาษวานร อัตราป่วยต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ยังเตือน “บุหรี่ไฟฟ้า” อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

 

โควิด19 ภาพรวมคนไข้หนักลดลง

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.)  นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลง “รู้เท่าทัน โรคและภัยสุขภาพ พร้อมรับมือช่วงปลายฝน” ว่า สถานการณ์โรคโควิด19 ผู้ป่วยเข้ารักษาในรพ.เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน แต่ภาพรวมคนไข้หนักลดลง  ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว  สำหรับผู้เสียชีวิตเพิ่มเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเช่นกัน โดยสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดช่วง 2-3 เดือนยังคงเป็น JN.1  รองลงมา LB.1 และ KP.2 ตามลำดับ

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า คนไข้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีอยู่ 281 ราย ภาพรวมคนไข้สะสม 39,344 ราย คนไข้ปอดอักเสบ 149 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 61 ราย เสียชีวิตสะสม ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมารวม 211 ราย ยังพบว่า คนไข้ปอดอักเสบ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน และเป็นกลุ่มสูงอายุ จะเห็นได้ว่า โควิดยังคงมีอยู่ แต่การระบาดไม่ได้มากขึ้น

ไข้หวัดใหญ่ป่วยเกือบ 5.5 แสนคน -ยังต้องระวังไวรัส RSV  

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ภาพรวมผู้ติดเชื้อ 549,468 ราย ส่วนใหญ่พบติดเชื้อในเด็กอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 5-14 ปี โดยในปี 2567 มีผู้เสียชีวิตสะสม 41 ราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวและอายุมาก ขณะที่เด็กติดเชื้อมาก แต่เสียชีวิตน้อย อย่างไรก็ตาม พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีหรือไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ถึงร้อยละ 97.9  ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงควรรีบรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนฤดูกาลระบาด หรือช่วงรณรงค์เป็นประจำทุปปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตลอดทั้งปี ส่วนโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสอาร์เอสวี (RSV)  ในช่วงเดือนตุลาคมยังพบการติดเชื้อ โดยในปี 2567 พบรายงานเสียชีวิต 7 ราย เป็นผู้สูงอายุ กลุ่มมีโรคประจำตัว กลุ่ม 608 แต่ยังไม่พบเด็กเสียชีวิต

จึงขอเน้นย้ำการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ก่อนรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก ไม่ใช้สิ่งของ เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เมื่อไอ จามต้องปิดปากจมูก หากป่วยขอให้สวมหน้ากากอนามัย และกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคร่วม โรคประจำตัว โรคไต โรคปอด หากต้องไปในพื้นที่แออัด มีผู้คนจำนวนมากขอให้สวมหน้ากากอนามัย หรือเลี่ยงเข้าไปยังสถานที่แออัด

ทั้งนี้ หากมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ไม่ดีขึ้นก็ขอให้พบแพทย์ ซึ่งก็จะรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัส ในกลุ่มโรคโควิดและไข้หวัดใหญ่ ส่วนRSV ในปัจจุบันรักษาตามอาการ

ฝีดาษวานร อัตราป่วยต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

“ส่วนโรคฝีดาษวานร เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปีที่แล้ว อาจเพราะกรมควบคุมโรคมีคำแนะนำเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยง มีความระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่ยังมีผู้เสียชีวิตประปลาย ซึ่งล้วนเป็นผู้เสี่ยงที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ร่วมด้วย ไม่ได้รับการรักษา หรือกลุ่มขาดยา จึงทำให้อาการรุนแรง จนมีโรคแทรกซ้อน” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

“ไข้เลือดออก” เพียง 1 เดือนเสียชีวิต 14 ราย

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก นำโดยยุงลาย เป็นโรคประจำถิ่นต้องออกมาเตือนทุกปี โดยสถานการณ์ปี 2567 มีแนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง แต่ยังสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง(2562-2566) พบมากในแถบภาคใต้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กวัยเรียน พบรายงานผู้เสียชีวิตทุกสัปดาห์ และพบกลุ่มวัยทำงานเสียชีวิตมากขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 2 ตุลาคม 2567 พบผู้ป่วย 84,434 ราย พบมากสุดในกลุ่มเด็กนักเรียน มีผู้เสียชีวิต 84 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเสียชีวิต 14 ราย จึงขอย้ำเตือน หากมีไข้ภายใน 1-2 วันยังไม่ดีขึ้น ขอให้ไป รพ. เพราะขณะนี้มีชุดตรวจวินิจฉัยได้เร็ว หากพบโรคจะได้รักษาอย่างทันท่วงที  

“ขอย้ำเรื่องการสื่อสารให้งดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัย เป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหาร และขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมถึงผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ทายากันยุงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ขอเตือนภัยสุขภาพเรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า” แนวโน้มพบในเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น 5.3 เท่าในระยะเวลา 7 ปี โดยอันตรายคือ มีสารนิโคติน สารเสพติด ยังพบสารโลหะหนัก ชักนำก่อมะเร็งได้” โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าว