หลังจากที่ประชุมสภาเสภัชกรรม วาระพิเศษ เพื่อเลือกนายกสภาเภสัชกรรมและอุปนายกสภาเภสัชกรรม วาระที่ 11 (พ.ศ.2568-2570) โดยผลการเลือกตั้งมีมติเอกฉันท์แต่งตั้งให้ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช ดำรงตำแหน่งนายกสภาเภสัชกรรม ดร.ภก.สุวิทย์ ธีรกุลชน ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 1 และ ดร.ภก.นพดล อัจจิมาธีระ ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 ทั้งนี้ จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ธันวาคม 2567

 

นโยบาย 3 เสาหลัก

โดย “ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช”  นายกสภาเภสัชกรรม วาระที่ 11 นำเสนอนโยบาย 3 เสาหลักภายใต้วิสัยทัศน์ “สภาฯ เคียงข้าง สร้างวิชาชีพชั้นนำ ทำให้ประชาชนวางใจ”  ได้แก่

เสาหลักที่ 1 NEXT Generation  นโยบายสำคัญ คือ 

  1. จัดตั้ง Young Pharmacist Council: ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเภสัชกรรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนวิชาชีพ
  2. ยกระดับวิชาชีพชั้นนำและทัดเทียม: ผลักดันตำแหน่งชำนาญการพิเศษเลื่อนไหลให้เภสัชกร เพิ่มหลักสูตรผู้บริหารทางเภสัชกรรม และเพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทน
  3. สร้างความเชี่ยวชาญคู่ขนาน: เปิดหลักสูตรเภสัชกรรมควบคู่ความเชี่ยวชาญอื่น (Dual Degree) เช่น กฎหมาย นโยบายสาธารณะ การบริหารธุรกิจ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นต้น

เสาหลักที่ 2 NEXT Innovation นโยบายสำคัญ คือ 

  1. ลดภาระงานเภสัชกร: ลดภาระงาน คืนเวลาให้เภสัชกร โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AI Robotics และ Tele pharmacy  เข้ามาพัฒนางานบริบาลทางเภสัชกรรม
  2. เพิ่มศักยภาพร้านยา: เพิ่มศักยภาพและความสามารถของร้านยา โดยสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะให้ร้านขายยา เช่น การตรวจยีนแพ้ยา เพื่อลดการแพ้ยาของประชาชน ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น
  3. ส่งเสริมการเรียนรู้: ส่งเสริมการเรียนรู้และนวัตกรรมเพื่อวิชาชีพ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่าน platform online ให้เภสัชกรอัพเดทความรู้ที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริบาลทางเภสัชกรรมและการบริการประชาชน

เสาหลักที่ 3 NEXT Society นโยบายสำคัญ คือ 

  1. สร้างสภาโปร่งใส: ส่งเสริมการมีส่วนร่วมผ่านการประชุมแบบ Live ให้สมาชิกรับฟังได้อย่างทั่วถึง และสร้างความเท่าเทียมในทุกมิติรวมทั้งการส่งเสริมการแสดงออกตามเพศวิถี
  2. จัดตั้ง Pharmacy Influencer Academy: สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยของเภสัชกร เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพกับประชาชนอย่างถูกต้องผ่านสื่อออนไลน์
  3. Pharmacy Anywhere: พัฒนาเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพในชุมชน ส่งเสริม Pharmacy Anywhere ให้มีการดำเนินงานเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพในชุมชน ตลอดจนลดความแออัดในสถานพยาบาล เพื่อทักเทียมการบริการในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย คานาดา

ภายใต้นโยบาย 3 เสาหลัก และ 9 นโยบายเรือธง ทีมคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม วาระที่ 11 พร้อมผลักดันวิชาชีพเภสัชกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการ และการดูแลด้านสุขภาพที่ดีขึ้น และสร้างความไว้วางใจต่อเพื่อน พี่น้องวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างยั่งยืน