บอร์ด สปสช. รับทราบ “ผลรับฟังความคิด กองทุนบัตรทอง ปี 2567” มีข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียกว่า 1.6 หมื่นราย สะท้อนข้อเสนอกว่า 700 ข้อ เช่น ปรับอัตราและค่าบริการในหน่วยบริการนวัตกรรมให้สูงกว่ารพ.
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบ “ผลการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ มาตรา 18(13) และมาตรา 46 มาตรา วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประจำปี 2567” โดยจากการรับฟังความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในปี 2567 ทั่วประเทศ มีความคิดเห็นทั้งหมดรวม 794 ข้อคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 กลุ่ม ที่เสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ รวม 16,532 ราย ซึ่ง สปสช. จะจัดกลุ่มความคิดเห็นต่างๆ เพื่อส่งต่อดำเนินการ
ทั้งนี้ หากเป็นข้อร้องเรียน หรือร้องทุกข์ จะมีการส่งต่อข้อมูลให้กับสายด่วน สปสช. 1330 และสปสช. ในเขตนั้นๆ รวมถึงกลไกคุ้มครองสิทธิในระดับพื้นที่ เพื่อให้เข้าไปแก้ไข ส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะที่เป็นเรื่องปัญหาจากการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ก็จะเร่งประชาสัมพันธ์ ปรับปรุงแก้ไขระบบในทันที ขณะที่ข้อเสนอใหม่ จะมีกระบวนการกลั่นกรองเพื่อนำเสนอให้ บอร์ด สปสช. ได้พิจารณา
อย่างไรก็ดี ในการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมีข้อเสนอในหลากหลายประเด็นที่ได้มีการสะท้อนมาใน 9 ด้านตามที่มีการกำหนดไว้ ประกอบด้วย 1. ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. ด้านบริหารจัดการ สปสช. 4. ด้านหลักเกณฑ์และการบริหารจัดการกองทุนบัตรทอง 5. ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) 6. ด้านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย 7. ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ 8. ด้านอื่นๆ (เฉพาะพื้นที่ชายทะเล/การถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับ อปท.) และ 9. ประเด็นประจำปี นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
สำหรับตัวอย่างข้อเสนอ เช่น ควรมีการปรับปรุงรายการและอัตราจ่ายรายการบริการ ที่ให้มีระยะเวลาก่อนบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ควรปรับอัตราและค่าบริการในหน่วยบริการนวัตกรรมให้สูงกว่าโรงพยาบาล เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ควรมีการปรับชดเชยราคายาตามรายการ Fee Schedule การขอให้บันทึกข้อมูลการเบิกจ่ายการให้บริการในโปรแกรมเดียว ฯลฯ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปแล้ว สปสช. ยังมีการเปิดรับฟังความเห็นจากกลุ่มเฉพาะด้วย เช่น สปสช. เขต 8 อุดรธานี มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นกลุ่มพระสงฆ์ต่อการขับเคลื่อนสถานชีวาภิบาลตามชุดสิทธิประโยชน์ ขณะที่ สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี และสปสช. เขต 12 สงขลา ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประเด็นร่วม เรื่องการบริหารจัด กปท. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และกองทุนการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ( LTC) แบบรายจังหวัด
“การจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยเป็นช่องทางในการับฟังเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลใหม่ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่ สปสช. ได้นำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 8 views