ไทยเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง 50% เด็กไทยส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน ซ้ำเจอปัญหาพัฒนาการล่าช้าด้านการใช้ภาษาสูง 74.8% การเข้าใจภาษา 60.9% สสส.ร่วมกับเครือข่าย จัดงาน Learning Space Festival ครั้งที่ 2 ส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้ ช่วยเด็กมีพัฒนาการดี เติบโตอย่างมีคุณภาพ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ จัดงาน Learning Space Festival ครั้งที่ 2 เปิดโอกาสให้หน่วยงานส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้ องค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ผู้ที่ทำงานในประเด็นเรียนรู้และการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสร่วมกันสนับสนุนการทำงาน และส่งเสริมให้เกิดการขยายผลของพื้นที่เรียนรู้เพิ่มขึ้น
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเด็กเกิดใหม่ของไทยลดลง 50% จาก 37 ปีที่แล้ว และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เด็กไทยส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน จากรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปี 2567
โดย สสส. และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว พบว่า เด็กและเยาวชน 7.8 ล้านคน อาศัยอยู่กับครอบครัวในภาคเกษตรที่มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน กระทบต่อการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก สอดคล้องกับผลการติดตามข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2566 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้าด้านการใช้ภาษาสูงถึง 74.8% การเข้าใจภาษา 60.9% ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 44.6% และด้านการเคลื่อนไหว 28.2% จากสถานการณ์นี้ สสส. จึงเดินหน้าสานพลังภาคีทุกภาคส่วนพัฒนาให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน ใกล้บ้าน ช่วยให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกับเด็ก สร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการศึกษา การใช้ชีวิต และการทำงาน
“สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ผ่านแผนงานส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้เพื่อความสุขของเด็ก มีภาคีร่วมดำเนินงาน 94 แห่ง กระจายตัวอยู่ใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดเป็นโมเดลที่หลากหลายในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ นอกจากนี้ สสส. ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ จัดงาน Learning Space Festival เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ผู้ที่ทำงานในประเด็นการศึกษาและปัญหาเด็ก ได้พบปะเพื่อสร้างร่วมมือกันการทำงานให้เกิดการขยายผลของพื้นที่เรียนรู้ผ่าน 3 แนวทาง 1.ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา (Contribute) 2.สานความสัมพันธ์ พร้อมเชื่อมโยงการทำงาน (Connect) 3.สร้างความร่วมมือ และระดมทรัพยากรเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน (Collaborate)” น.ส.ณัฐยา กล่าว
น.ส.พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนยังเผชิญกับปัญหาพัฒนาการล่าช้า ติดจอ สุขภาพจิตเสีย เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต เช่น
- ทักษะการสื่อสาร
- ความคิดสร้างสรรค์
- การคิดวิเคราะห์
- การแก้ไขปัญหา
สาเหตุจากผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาเอาใจใส่ เด็กต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง หรืออยู่กับผู้สูงอายุ และไม่มีเครื่องมือสำหรับใช้ดูแลพัฒนาการเด็ก สอดคล้องกับผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และกรมอนามัย พบว่าเด็กปฐมวัย 64% มีการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยมีระยะเวลาการใช้จอที่มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อชั่วโมงการเล่นของเด็กปฐมวัยที่ลดลงถึง 50% ปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กและเยาวชนจึงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมลำดับต้นๆ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างแรงงานและประชากรที่มีคุณภาพสำหรับประเทศในอนาคต โดยภายในงาน Learning Space Festival แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ได้แก่
1.โซน Connect มีภาคีศูนย์บ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้กว่า 20 แห่ง ร่วมจัดแสดงโมเดลพื้นที่เรียนรู้เด็กและเยาวชนในชุมชน พร้อมโชว์ผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ และหลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสังคมและจิตใจ ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย เพิ่มชั่วโมงเล่น ลดชั่วโมงติดจอ
2.โซน Contribute เปิดรับองค์กรภาครัฐ ธุรกิจ และผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนตามความสนใจ
3.โซน Collaborate เปิดโอกาสให้เครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ที่มีโมเดลการขยายผลพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบโปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator)
สร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจหรือภาครัฐที่กำลังมองหาประเด็นและเป็นหุ้นส่วนในการทำงานที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเด็กเยาวชนในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่กำลังมองหาประเด็นและหุ่นส่วนในการทำงานด้านการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน และมีความพร้อมในการสนับสนุนพื้นที่เรียนรู้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.earningsincubator.notion.site
- 26 views