ตัวแทนพรรคการเมืองมองร่าง “กฎหมายน้ำเมา” ฉบับใหม่  เป็นสัญญาณดีปรับตามบริบทพื้นที่ สคอ.ค้านแนวคิดเพื่อไทย ดื่มอย่างรับผิดชอบไม่มีจริง  ด้านเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จี้รัฐทบทวนมาตรการปิดผับตี 4  ขณะที่ทุกฝ่ายจับตาร่างพ.ร.บ.ฯ เข้าสู่สภาฯ 12 ธ.ค.67  

 

การปรับแก้ “กฎหมายคุมน้ำเมา” หรือการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นประเด็นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย เนื่องจากการปรับแก้กฎหมาย ย่อมมีผลต่อมาตรการต่างๆ ที่จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งล่าสุดร่างพ.ร.บ.ฯ นี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 12 ธ.ค.2567

ดังนั้น ในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13  จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 14-15 พ.ย.2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ จึงมีการหยิบยกประเด็นข้อห่วงใยต่างๆ หากมีการปรับร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาจำหน่าย การควบคุมการโฆษณาออนไลน์  การให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้ามาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเอง ด้วยโครงสร้างคณะกรรมการฯ ที่จะมีภาคธุรกิจเข้าร่วม เป็นต้น

(ข่าว :เปิดข้อเรียกร้องถึงพรรคการเมืองกรณีแก้ไข “กฎหมายคุมน้ำเมา” ฉบับใหม่ อะไรน่าห่วง!)

ซึ่งภายในงานยังมีเวทีเปิดมุมมองของฝ่ายการเมืองถึงกรณีร่าง “กฎหมายน้ำเมา” ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นผู้แทนจาก 4 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาควิชาการ และภาคีเครือข่ายประชาสังคม   โดยมี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการภายใต้อนุกรรมการวิชาการ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ  เป็นผู้ดำเนินรายการ

Hfocus ขอนำเสนอตัวอย่างข้อคิดเห็นแต่ละมุมมอง อาทิ

นักวิชาการแนะควรประเมินนโยบายรายปี

ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ราคาขั้นต่ำของการดื่มแอลกอฮอล์ เผยถึงกรณีศึกษาสกอตแลนด์ ที่พยายามจะออกกฎหมายให้มีราคาขั้นต่ำของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก็ไม่ยอม แต่มีการต่อรองว่า ออกกฎหมายมาแล้ว แต่ 1 ปีแรกต้องมาประเมินว่าเป็นไปอย่างไร ซึ่งเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐสภาของสกอตแลนด์มีมติให้คงกฎหมายนี้ต่อไป เพราะได้ผลตามงานวิจัยก่อนออกกฎหมาย คำถามคือ กฎหมายของไทยจะทำแบบนี้ได้หรือไม่  เมื่อครบ 1 ปี ควรมีการประเมินผลการดำเนินการของมาตรการใหม่ๆ ว่าเป็นอย่างไร

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า จริงๆภาครัฐก็มีการประเมินประสิทธิผลของกฎหมายอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดี ไม่เหมือนอดีต ตนมองว่า การทบทวนกฎหมาย บางทีไม่ต้องทบทวนในสภา แต่ทบทวนกันเองผ่านเวทีภาคีเครือข่ายแบบนี้ทุกปีก็ได้ อย่าปิดประตู ค่อยๆปรับกัน

นายชนินทร์  รุ่งธนเกียรต์  ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต(ฉบับที่..) พ.ศ...(กมธ.สุราชุมชน) สส.พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า สิ่งที่ทำอยู่ในชั้นกรรมาธิการฯ ไม่ได้ใส่มาตรการลงไปใน ร่างพ.ร.บ.ฯ แต่กำหนดในพ.ร.บ.ว่า ให้อำนาจคณะกรรมการระดับประเทศ และระดับจังหวัด  ในการออกมาตรการ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่มีทั้งทดลอง ปรับปรุงไปตลอดอยู่แล้ว เช่น วัน เวลา สถานที่ขาย ไม่ได้เขียนในร่างพ.ร.บ.ฯ ว่าห้ามขายเมื่อไหร่ อย่างไร แต่เราให้อำนาจคณะกรรมการระดับประเทศส่งต่อไปยังคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้แต่ละพื้นที่ได้ทดลองมาตรการ ทดลองนโยบายของแต่ละพื้นที่ หากมีผลกระทบอะไร ก็จะเกิดการแก้ไข ปรับปรุงได้

สส.เพื่อไทยเสนอดื่มอย่างรับผิดชอบ

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสิทธิความปลอดภัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น สส.พรรคเพื่อไทย มองว่า คงห้ามคนไทยไม่ให้บริโภคสุราคงไม่ได้ แต่เราต้องให้ความรู้ควบคู่กันไปว่าการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ต้องบอกว่าผู้ที่ต้องการดื่มก็ไม่ผิด เราก็ต้องเคารพสิทธิของผู้ที่ต้องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพียงแต่เราต้องให้ความรู้ถึงผลกระทบของการดื่มว่าจะส่งผลเสียหายได้  การที่เด็กเยาวชนมีความรู้เรื่องการบริโภคอย่างรับผิดชอบน้อยลงส่วนหนึ่ง เพราะเราไม่ได้ให้ความรู้อย่างเหมาะสม

“ไม่ได้หมายความว่าจะส่งเสริมให้เขาบริโภคมากขึ้น แต่เราต้องมีการพูดคุย เปิดเผยว่าการดื่มอย่างรับผิดชอบต้องทำอย่างไรบ้าง ทางพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ต้องการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ขณะนี้เรามีแก้กฎหมาย2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งไม่ได้ต้องการเพิ่มการบริโภค แต่ต้องการให้การผลิตที่ไม่ถูกกฎหมายกลับขึ้นมาให้ถูกกฎหมาย  ดังนั้น หากเรามีกฎหมายตรงนี้ก็จะทำให้สุราที่ผลิตแล้วมีการผลิตที่ถูกต้องมีมาตรฐานมากขึ้น  ลดปัญหาสุราเถื่อน ที่อาจมีอันตรายกับประชาชน เราจะค่อยๆ ทำและประเมินผลกระทบควบคู่กันไป หากสุดท้ายมีผลกระทบมากก็พร้อมจะปรับเปลี่ยน” สส.พรรคเพื่อไทยกล่าว   

สคอ.ค้านแนวคิดเพื่อไทย ดื่มอย่างรับผิดชอบไม่มีจริง  

ขณะที่ นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) มองว่า การดำเนินการเรื่องนี้ หากจะมองความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคมนั้น ตนคิดว่าปัญหาสังคมมีความรุนแรงมากกว่าระบบเศรษฐกิจหลายร้อยเท่า ซึ่งเห็นด้วยกรณีปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย จึงอยากฝากโจทย์กลับไปที่ฝ่ายการเมืองว่า ขอให้ไปดูว่ารัฐบาลมีกลไกการบังคับใช้กฎหมายดีแค่ไหน เป็นมานานแล้ว ต้องทำอย่างไร

“ส่วนแนวคิดว่า ให้ไปสอนเด็กให้รู้จักสุรา และรู้จักรับผิดชอบ ต้องขอเห็นต่าง เพราะสุรา ขนาดโตแล้วยังไม่รับผิดชอบ เป็นสินค้าประเภทเดียวที่ก่อนและหลังดื่ม จิตสำนึกต่างกัน จึงไม่อาจใช้คำว่าต้องดื่มอย่างรับผิดชอบ เพราะสอนอย่างไร เมื่อดื่มไปแล้วไม่เห็นผล จึงต้องมุ่งเน้นหลีกเลี่ยงการดื่มมากที่สุด และสุขภาพ เศรษฐกิจจะดีขึ้นถ้าไม่ดื่ม เรียนสูงแค่ไหน เมื่อดื่มเข้าไปก็ไม่รับผิดชอบ” นายพรหมมินทร์ กล่าว

เครือข่ายงดเหล้าฯ จี้ทบทวนปิดผับตี 4

นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า  และคณะกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มองว่า  เรื่องการแทรกแซงจากภาคธุรกิจ ทางรัฐบาลต้องมีความสมดุลระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมให้ได้ รัฐต้องวางจุดยืนให้ดี โดยเฉพาะหากดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่ง จากบทเรียนประเทศต่างๆ ก็ทราบดีว่า ย่อมส่งผลต่อนโยบายที่ช่วยปกป้องคุ้มครองดูแลประชาชนจะเฉื่อยชาลงได้  ดังนั้น น่าจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการแทรกแซงจากภาคธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น

“เรื่องภาษี เห็นด้วยว่ามีผลมาก ซึ่งประเทศไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะจริง การจะขึ้นภาษีต้องพิจารณาดีๆ แต่เรายังมีความลักลั่นของภาษีเหล้า ทั้งเหล้าแดง เหล้าขาวอยู่ จึงจำเป็นต้องพิจารณากันอีก และขอฝากเรื่องการปิดผับบาร์ตี 4  ซึ่งนพ.คำนวณ เป็นผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ถึงผลกระทบจากการปิดผับตี 4 แม้แต่เหยื่อเมาแล้วขับก็เคยไปยื่นรัฐบาล 2 ครั้งแล้วว่า ควรทบทวนเรื่องนี้ แม้แต่ทีดีอาร์ไอยังไม่เห็นด้วยกับขยายเวลาปิดผับ และในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ จะครบรอบ 1 ปี จึงขอให้ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจไม่ต้องยกเลิก แต่ต้องมาดูว่าจะมีมาตรการอะไรเสริมมารองรับ เพื่อให้นโยบายนี้ดียิ่งขึ้น” นายธีระ กล่าว

มาตรการขึ้นภาษี

ทั้งนี้ นพ.คำนวณ ยังถามประเด็นมาตรการทางภาษี คิดเห็นอย่างไรหากเพิ่มราคา คนจะดื่มน้อยลง 

นายชนินทร์ กล่าวว่า ภาษีได้ผลจริงแต่กังวลว่าการเพิ่มภาษีให้สูงก็จะกลายเป็นมีสินค้าหนีภาษีด้วยหรือไม่เพราะการขึ้นภาษีทำให้คนเข้าถึงน้อยลง แต่กลายเป็นคนไม่เข้าถึงตรงนี้ กลับไปเข้าถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องแทน ส่งผลกระทบอีก อย่างไรก็ตามเรื่องภาษีสุราสัดส่วนของเราไม่ได้น้อย เพียงแต่การส่งเสริมให้คนบริโภคยังมีจิตสำนึกน้อยไปหรือไม่ ปัจจุบันการรณรงค์ให้ลดการดื่มหรือดื่มไม่ขับแต่สำหรับตนมองว่าควรให้ความรู้เด็กและเยาวชนตั้งแต่ยังเข้าไม่ถึงสุราเพื่อให้เข้าใจถึงการดื่มสุราว่า ต้องมีความรับผิดชอบอย่างไร ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลว่าห้ามดื่มเท่านั้น ควรสร้างพฤติกรรมการดื่มอย่างเหมาะสมมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

พรรคประชาชน มองธุรกิจแทรกแซงอยู่ที่มุมมอง

ส่วนประเด็นเรื่องการแทรกนโยบายหรือไม่ เพราะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าไปนั่งในคณะกรรมการฯ

นายเท่าพิภพ กล่าวว่า การแทรกแซงหรือไม่  หากมองในคณะกรรมการตัวแทนธุรกิจเป็นเสียงข้างน้อยเท่านั้นจะแทรกแซงอย่างไร สิ่งที่ทำผิดพลาดคือการให้อำนาจรัฐแบบรวมศูนย์เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐมากกว่าประชาชน  นอกจากนี้ กรณีโทษเรื่องตักเตือนผู้ประกอบการก็ถือว่าเป็นที่ดีเพื่อให้เขาได้ทราบ อย่างการปรับโฆษณาคนที่ไม่รู้เรื่องไปโพสต์แบบไม่รู้เรื่อง แต่ถูกปรับสูง ก็ดูไม่เป็นธรรม  ตนมองว่าการตักเตือนก่อนถือเป็นสิ่งที่ดี  อย่างกรมสรรพาสามิต หากจะออกใบอนุญาตขายให้กับร้านรายย่อยได้ควรมีการอบรมให้ความรู้พวกเขาด้วย

 

ภูมิใจไทยหนุนร่างกฎหมายน้ำเมา เน้นคุ้มครองเด็ก 

นางกัลยา เอี่ยวสกุล เครือข่ายผู้บริโภคจ.ปัตตานี ในฐานะผู้แทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า  ในนามพรรคภูมิใจไทยเราเห็นด้วยในการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในระดับจังหวัด เพราะกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ โดยหลักเราต้องการปกป้องเด็กและเยาวชน จึงมีการขับเคลื่อนและมีตัวแทนเข้าไป อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต้องมาพิจารณากันว่าจะทำอย่างไร ทั้งการกำหนดสถานที่ขายกำหนดเวลาขายหรือในส่วนของความรับผิดชอบหากระดับจังหวัดในแต่ละพื้นที่อาจจะไม่เหมือนกับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างอย่างจังหวัดปัตตานีก็จะมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมดังนั้นการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆก็ต้องเป็นไปตามบริบทของพื้นที่  

“แต่การจะขับเคลื่อนได้ในระดับจังหวัด สิ่งสำคัญคืองบประมาณ ก็อยากให้มีการเติมงบประมาณที่เพียงพอลงไปด้วย” นางกัลยากล่าว

 

รวมไทยสร้างชาติจี้มาตรการเข้มห้ามขายในเด็ก

ดร.ปรเมษฐ์ จินา สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ควรมีมาตรการควบคุมกำกับห้ามจำหน่ายในเด็กอายุ 20 ปีหรือขายกับคนที่ครองสติไม่ได้   ทั้งนี้ ยังบางประเด็นอย่างเรื่องการจำหน่ายในสถานศึกษา งานแต่ง งานบวช ต้องกำหนดมาตรการให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา  

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : มุมมองนักการเมืองร่าง กฎหมายน้ำเมา เมื่อผ่องถ่ายอำนาจให้จังหวัดออกมาตรการตามบริบทพื้นที่