บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนอแก้ปัญหาสภาพคล่อง “รพ.มงกุฎวัฒนะ” จ่ายชดเชยค่าบริการล่วงหน้าตามความเหมาะสม พร้อมไฟเขียวขยายจำนวนประชากรขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทอง ตามศักยภาพให้บริการของ รพ. โดยกำหนดให้เป็นหลักเกณฑ์แนวทางเดียวกันของโรงพยาบาลรับส่งต่ออื่นในระบบ
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบเรื่อง “ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องในกรุงเทพมหานคร” จากกรณีของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ที่ได้ทำหนังสือถึง สปสช.
ทั้งนี้ เบื้องต้นทาง บอร์ด สปสช. ได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาสภาพคล่อง ปี 2567 โดย สปสช. ได้มีการจัดสรรงบที่คงเหลืออยู่ในการเร่งแก้ปัญหา และมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจ่ายล่วงหน้า (Prepaid) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของหน่วยบริการในกรุงเทพฯ และให้ สปสช. ปรับกระบวนการตรวจสอบก่อนการเบิกจ่ายของคลินิกที่เป็นหน่วยบริการให้รวดเร็วและทันเวลา นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ สปสช. พิจารณาการขอขยายจำนวนประชากรเพื่อขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ของโรงพยาบาลเพิ่ม โดยให้เป็นไปตามศักยภาพการบริการของหน่วยบริการ และเปิดให้ประชาชนเป็นผู้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการเอง โดยให้ สปสช. ดำเนินการในเรื่องนี้ทันที
“ที่ประชุม บอร์ด สปสช. ยังได้เสนอความเห็นขอให้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ สปสช. วางระบบการแก้ปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อแห่งอื่นในระบบ ซึ่งการขออนุมัติความเห็นชอบนี้ควรนำไปใช้เป็นมาตรการหรือแนวทางจัดการปัญหาการเบิกจ่ายชดเชยที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต” นพ.จเด็จ กล่าว
ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจากโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะที่เป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อระบบบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ มีหนังสือแจ้งเรื่องการขาดสภาพคล่องมาที่ สปสช. โดยระบุว่าไม่สามารถรับส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิในกรุงเทพฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากยังไม่ได้รับการจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยรับส่งต่อ และการถูกลดอัตราค่าธรรมเนียมทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง
นอกจากนี้ที่มาของเรื่องนี้ ยังเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงบประมาณผู้ป่วยนอกโมเดล5 ตามข้อเสนอของทางคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ร่วมให้บริการ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา จากการจ่ายรายบริการ(Free Schedules) ซึ่งส่งผลต่องบประมาณของหน่วยบริการปฐมภูมิ (คลินิกชุมชนอบอุ่น)ได้รับไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการตามจ่ายค่าบริการส่งต่อแก่โรงพยาบาลรับส่งต่อเป็นจำนวนมาก เป็น OP New Model 5 ในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว และขอตรวจสอบก่อนการจ่ายชดเชยทุกครั้งก่อนมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบจำนวนการส่งต่อที่ถูกต้อง รวมทั้งขอตรวจสอบข้อมูลบริการทั้งหมดที่เบิกจ่ายก่อนการปรับโมเดลการจ่ายช่วง ต.ค.2566-ก.พ.2567
ดังนั้นด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา สปสช. ได้ตั้งคณะทำงานเจรจาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับผู้บริหารโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะได้เสนอ สปสช. เร่งรัดการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอกที่คงค้างโดยเร็ว ทั้งนี้หากระบบการตรวจสอบยังไม่สามารถจ่ายชดเชยได้ตรงเวลา ขอให้ สปสช. พิจารณาจ่ายล่วงหน้าบางส่วนให้กับโรงพยาบาลเพื่อให้มีสภาพคล่องก่อน พร้อมกับข้อเสนอที่ได้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. วันนี้
- 157 views